ทีมวิจัย ม.อ. แจงผลวิจัยโควิด-19 จากแมวสู่คนที่คาดว่าออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลก พบติดเชื้อมาจากเจ้าของ โดยแมวได้จามใส่สัตวแพทย์ เตือนอย่าวิตก มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก

 

วันที่ 20 มิ.ย.65 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล หนึ่งในทีมวิจัยเรื่องการติดเชื้อโควิดจากแมวสู่คน เปิดเผยว่า กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ32 ปี แต่เตียงมีไม่พอรักษา จึงเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ด้วย และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมา 2 คน พ่อลูก พร้อมกับแมวที่เลี้ยงเอาไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวไทย สีส้ม อายุ 10 ปี

จากนั้นในวันที่ 8 ส.ค. 64 จึงนำตัวผู้ป่วยทั้ง 2 คน เข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด-19 ของ ม.อ. ส่วนแมวได้ส่งไปให้สัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ตรวจหาเชื้อในวันที่ 10 ส.ค 64 โดยการแยงจมูกและตรวจทวารหนัก

ผลปรากฏว่า ในระหว่างตรวจอยู่นั้น แมวได้จามออกมาในช่วงที่กำลังเก็บสิ่งส่งตรวจ และถูกสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่ง อายุ 32 ปี ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือ และหน้ากากอนามัยเท่านั้น แต่ไม่มี face shield หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตา

หลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่า เป็นบวกหรือติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่วนสัตวแพทย์ท่านนี้หลังจากตรวจแมวได้ 3 วัน คือในวันที่ 13 ส.ค.64 ก็เริ่มมีอากรไข้ ไอ และมีน้ำมูก และในวันที่ 15 ส.ค. 65 ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยทั้งหมดทั้งคู่พ่อลูก แมว และสัตวแพทย์ อาการไม่หนักมาก และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังรักษาตัวอยู่เกือบ 10 วัน และจากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี ไม่มีอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู เปิดเผยอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นได้มีตั้งสมมติฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยพบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่างคือ ระยะการฟักตัวของโรค โดยในคนเชื่อจะอยู่ได้ราว 1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลา

และอีกส่วนคือ การตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมว และสัตว์แพทย์ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหญ่ๆ หลายจุดใน จ.สงขลา เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่า แมวอาจรับเชื้อมาจากชุมชนหรือแหล่งอื่นหรือไม่ แต่พบว่าไม่ตรงกัน

จึงได้ข้อสรุปว่า แมวติดเชื้อโควิด-19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด และเจ้าของเองก็ไม่ทราบ ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยง คือ แมวไปสู่คนนั้นน่าจะเป็นเคสแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัย

อย่างไรก็ตาม การที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นก็ยากมาก หรือน้อยมากเช่นเดียวกัน เพราะส่วนใหญ่จะมาจากการไอ จาม น้ำมูก และอุจจาระ ซึ่งคนมีโอกาสสัมผัสน้อยมาก และเมื่อสัมผัส ส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดทันทีอยู่แล้ว