โฆษกรัฐบาลแนะฝ่ายค้าน เอาหลักฐานโชว์ชัดบนเวทีซักฟอก ไม่ใช่เน้นวาทกรรม เสียดสี สาดโคลน ชี้ควรใช้เนื้อหาเป็นตัวตั้ง จะอภิปราย รมต. กี่คน ไม่ใช่เอาจำนวนเข้าว่าแล้วค่อยหาข้อมูลเอาดาบหน้า แจงรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และนำไปตรวจสอบทุกครั้ง แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมเปิดใจ

 

วันที่ 6 มิ.ย.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า จะเน้นข้อมูลที่เห็นว่ารัฐบาลทำผิดกฎหมาย และส่อไปในทางทุจริต มีหลักฐานเป็นหลัก ประมาณ 2-3 เรื่องใหญ่ว่า เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายค้านชอบโหมโรงก่อนศึกซักฟอกทุกครั้งว่ามีหลักฐาน มีไม้เด็ด แต่เมื่อถึงเวลาอภิปรายจริงก็มักจะเป็นอย่างที่ประชาชนได้เห็น ได้รับทราบว่า มีแต่วาทกรรม เสียดสี สาดโคลน เนื้อหาต่างจากที่แกนนำม็อบบนท้องถนนพูดบนเวทีหรือไม่ประชาชนก็ทราบดี เพียงแต่ถูกนำมาพูดในสภาฯ โดยคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น สส. ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายค้านมีหลักฐานจริงตามที่กล่าวอ้างก็นำมาแสดงในสภาฯ ได้ รัฐบาลพร้อมรับฟังอยู่แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลก็รับฟังข้อเสนอแนะ และนำไปตรวจสอบทุกครั้ง เพียงแต่ฝ่ายค้านไม่ยอมเปิดใจ ทำเหมือนอภิปรายเสร็จแล้วก็แลัวกันไป ไม่ได้สนใจคำชี้แจงของรัฐบาลเท่าที่ควรด้วยซ้ำ ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลชี้แจงข้อบิดเบือนต่าง ๆ ของฝ่ายค้านแล้ว ประชาชนจะเข้าใจ และเลิกสับสน

ส่วนกรณีที่นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลระบุว่า รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป้าหมายหลักเป็นรัฐมนตรีกลุ่ม 3 ป. คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น นายธนกรกล่าวว่า ขอให้ฝ่ายค้านไปคุยกันเองให้ตกผลึกก่อนดีกว่าว่า สามารถหาข้อมูลที่อ้างว่ามีการทุจริตได้จริงหรือไม่ ควรใช้เนื้อหาเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยสรุปว่าจะอภิปรายรัฐมนตรีกี่คนกันแน่ ไม่ใช่เอาจำนวนรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยไปหาข้อมูลเอาดาบหน้า ซึ่งสุดท้ายจะกลายเป็นการอภิปรายแบบน้ำท่วมทุ่งเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฝ่ายค้านควรอภิปรายแบบเสนอแนะด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้เห็นว่ารัฐบาลตัดสินใจอะไรผิดพลาด เกิดการใช้งบประมาณไม่เหมาะสมตรงไหน อย่างไร และการบริหารที่อ้างว่ามีความผิดพลาดนั้น สร้างความเสียหายจริงหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า