8 พฤษภาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันกาชาดสากล “World Red Cross and Red Crescent Day)” องค์กรกาชาดคืออะไร ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออะไร?
วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกาชาดสากล” (World Red Cross and Red Crescent Day) ซึ่งถือกำหนดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองให้กับกลุ่มองค์กรกาชาดที่ทำงานอย่างหนักเพื่อประชาชน โดยวันนี้เป็นวันเกิดของ “ญัง อังรี ดูนังต์” (Jean Henri Dunant) นายธนาคารชาวสวิสเซอร์แลนด์นั่นเอง แล้ว “วันกาชาด” คือวันอะไร ทำไมถึงต้องมีวันนี้ และเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทำไมถึงมี “วันกาชาดสากล” ?
“วันกาชาดสากล” เกิดขึ้นภายใต้แรงผลักดันของ “ญัง อังรี ดูนังต์” (Jean Henri Dunant) นายธนาคารชาวสวิสเซอร์แลนด์ ที่ได้พบเห็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2402 โดยเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกองกำลังทหารของฝรั่งเศสร่วมกับอิตาลี และกองกำลังทหารของออสเตรียบริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้านของซอลเฟริโน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี
โดยเหตุการณ์การสู้รบในครั้งนั้น ทำให้มีทหารบาดเจ็บ และล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดคนช่วยเหลือ ด้าน “ญัง อังรี ดูนังต์” จึงได้รวบรวมหมอชาวออสเตรีย และกลุ่มนักเรียนแพทย์อิตาเลียน มาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายมิตรหรือศัตรู
ต่อมา เมื่อเขาเดินทางกลับถึงกรุงเจนีวา “ญัง อังรี ดูนังต์” ได้นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาถ่ายทอดผ่านหนังสือ "ความทรงจำที่ซอลเฟริโน" ขึ้น โดยมีใจความสำคัญระบุตอนหนึ่งว่า "จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดตั้งองค์กรอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในสงคราม" และเสนอแนะว่า ควรจะมีการตระเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือในการพยาบาลให้พร้อมในยามสงบ เพราะเมื่อมีสงครามเกิดขึ้นจะได้ช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บทุกฝ่ายได้ทันท่วงที และขอให้อย่ายิงคนที่ช่วยบรรเทาทุกข์เหล่านี้ เนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้ยังจะช่วยเหลือคนในยามที่เกิดทุพภิกขภัย เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วมฯลฯ อีกด้วย
ขณะที่จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ทำให้เกิดการประชุมระหว่างประเทศขึ้น ณ กรุงเจนีวา โดยมีผู้แทนจาก 16 ประเทศเข้าร่วมประชุม นำไปสู่การก่อตั้งสภากาชาดสากลขึ้น ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2406 พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross หรือ ICRC)
โดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และสหพันธ์สภากาชาด-สภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายอังรี ดูนังต์ เป็นวันกาชาดโลก
สัญลักษณ์กาชาด มาจากไหน?
กิจการกาชาดถือกำเนิดขึ้น โดยมีเครื่องหมายสีแดงบนพื้นขาว เป็นสัญลักษณ์ของกาชาดที่รู้จักกันทั่วโลก และการใช้เครื่องหมายนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้นกำเนิดของกาชาด สัญลักษณ์ดังกล่าวจะมีลักษณะกลับกันกับธงชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ จึงได้มีการกำหนดเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดงใช้ในประเทศมุสลิม โดยเรียกว่า "สภาเสี้ยววงเดือนแดง" แทน "สภากาชาด" แต่ก็มีหลักการและหน้าที่ไม่แตกต่างกัน โดยยึดหลักการกาชาด 7 ประการคือ มนุษยธรรม, ความไม่ลำเอียง, ความเป็นกลาง, ความอิสระ, บริการอาสาสมัคร, ความเป็นเอกภาพ, ความเป็นสากล
ปัจจุบันมีสภากาชาดของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศจำนวน 181 ประเทศ สำหรับสภากาชาดไทยเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศลำดับที่ 31
สภากาชาดสากลทำอะไร?
จากการบุกเบิกของ “ญัง อังรี ดูนังต์” ร่วมกับทนายความคนสำคัญ คือ กุสต๊าฟ มัวนิเอร์ ทำให้ขบวนการกาชาดประสบความสำเร็จ และกลายเป็นสภากาชาดสากล มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากมาย โดยสภากาชาดของแต่ละประเทศจะเป็นองค์กรอิสระ สามารถจัดวางแผนงานของตนให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้ ขณะที่องค์กรกาชาดสากล ประกอบด้วย 3 องค์กรหลัก ดังนี้
- คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC มีพันธกิจในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและความขัดแย้ง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นกฏหมายระหว่างประเทศที่มีการลงนามรับรองโดย 194 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
- สหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ หรือ IFRC มีหน้าที่ในการประสานงานและรวบรวมสรรพกำลังของประเทศสมาชิกในการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติขั้นรุนแรง ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินถล่มในอัฟกานิสถาน หรือ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ
- สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง (National Societies) ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติ การบริการด้านสุขภาพและสังคม ทั้งนี้ในยามสงครามมีหน้าที่ช่วยเหลือพลเรือนที่ได้รับผลกระทบและช่วยงานของหน่วยบริการแพทย์ทหารตามสมควร ปัจจุบันมีสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงกว่า 186 ประเทศทั่วโลก
วันกาชาดสากล 2022
สภากาชาดสากล ได้กล่าวถึง “วันกาชาดสากล” ปี 2022 ผ่านเว็บไซต์ว่า “8 พฤษภาคมนี้เป็นโอกาสสำหรับขบวนการกาชาดระหว่างประเทศ และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่ของเรา และอาสาสมัคร 14 ล้านคนทั่วโลก ที่จะรวมตัวกันเพื่อยืนยันหลักการพื้นฐานของเราอีกครั้ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่เราทำเพื่อช่วยเหลือผู้ขัดสน
ความมุ่งมั่นของเรากำหนดให้เราต้องสนับสนุนผู้ที่อ่อนแอที่สุดในโลก ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด เมื่อสงครามหรือภัยพิบัติเบี่ยงเบนความสนใจหรือความเอื้ออาทรของสาธารณชน สื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้บริจาค มันจะเป็นข้อเสียของผู้คนนับล้านที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อ ถูกลืม หรือมองไม่เห็น
หลักการพื้นฐานของเราทำให้เกิดเปลวไฟแห่งมนุษยชาติไปทั่วโลก และความแตกแยก พวกเขาช่วยปรับความสนใจของโลกให้กับทุกคนที่อยู่ในความทุกข์ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเรากับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สภากาชาด และเสี้ยววงเดือนแดงทั่วโลก ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ เราขอยกย่องการทำงานที่น่าชื่นชม และความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของพวกเขาในฐานะผู้เผชิญเหตุคนแรกในชุมชนของพวกเขา
มาร่วมกันเผยแพร่เปลวไฟแห่งมนุษยชาติ และเชื่อในพลังแห่งความเมตตา #BeHumanKIND
สุขสันต์วันกาชาดโลก และวันเสี้ยววงเดือนแดงโลก!
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา วิกฤตและภัยพิบัติแทบไม่มีใครรอดชีวิต การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ความขัดแย้งทางอาวุธและความรุนแรง วิกฤตสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และการพลัดถิ่นของประชากรจำนวนมหาศาล กำลังส่งผลกระทบต่อกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในโลก หลายคนขาดวิธีการและทรัพยากรที่จะปรับตัว
ท่ามกลางฉากหลังนี้ ความเฉยเมย ข้อมูลที่ผิด และวาจาสร้างความเกลียดชังกำลังคืบคลานเข้ามาในจิตสำนึกร่วมกัน ซึ่งเป็นสังคมที่แตกแยก และแบ่งขั้ว รวมถึงทำให้ผู้คนถูกปฏิเสธ และลดทอนความเป็นมนุษย์
แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนหลักการพื้นฐาน และกฎเกณฑ์ในการคุ้มครอง และช่วยเหลือก็ไม่เว้น ผู้ที่พยายามให้การดูแล และสนับสนุนผู้ขัดสนพบว่า ตนเองตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีที่ไม่ยุติธรรม และบางครั้งก็มีความรุนแรง เมื่อเปลวเพลิงแห่งมนุษยชาติสั่นไหว เราต้องตื่นตระหนก และต้องลงมือ!"