ปักกิ่งอ่วม! สั่งปิดสถานีบริการรถไฟใต้ดินกว่า 40 แห่ง พร้อมปิดเส้นทางรถประจำทาง 158 เส้น หวังสกัดโควิด-19 ระบาดลุกลามหนัก 

 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าวของจีน รายงานว่า กรุงปักกิ่งสั่งปิดสถานีบริการรถไฟใต้ดินกว่า 40 สถานี และปิดเส้นทางเดินรถประจำทาง 158 เส้นทางในวันนี้ (4 พ.ค. 65) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กรุงปักกิ่งต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เช่นเดียวกับเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของจีน

ด้านสำนักงานบริการด้านการขนส่งของกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า เทศบาลกรุงปักกิ่งสั่งปิดสถานีรถไฟใต้ดินกว่า 40 สถานี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของเครือข่ายสถานีทั่วกรุงปักกิ่ง โดยสถานีรถไฟใต้ดินเหล่านี้ รวมทั้งเส้นทางเดินรถประจำทาง 158 เส้นทางที่ถูกปิดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเฉาหยางซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปักกิ่ง

นอกจากนี้ กรุงปักกิ่งซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน ยังสั่งปิดโรงเรียน รวมทั้งย่านธุรกิจบางแห่ง และอาคารที่อยู่อาศัยที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นแหล่งแพร่ระบาด พร้อมกับใช้มาตรการปูพรมตรวจเชื้อโควิด-19 รอบที่ 2 ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ตรวจหาเชื้อขนานใหญ่ไปแล้ว 3 รอบในสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยรายงานระบุว่า ประชาชนชาวปักกิ่งได้พากักตุนอาหาร และของใช้ที่จำเป็น เนื่องจากกังวลว่า หากกรุงปักกิ่งตัดสินใจล็อกดาวน์อย่างเต็มรูปก็อาจจะส่งผลให้การหาซื้อสินค้าเป็นไปอย่างยากลำบาก

ทั้งนี้ กรุงปักกิ่งเร่งตรวจหาเชื้อให้กับประชาชน โดยคาดหวังว่าหากพบการติดเชื้อก็จะสามารถกักตัวผู้ป่วยก่อนที่จะมีการลุกลามเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ การใช้มาตรการที่เข้มงวดของกรุงปักกิ่งยังมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนกับในเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยขณะนี้เซี่ยงไฮ้ซึ่งมีประชากรจำนวนมากถึง 25 ล้านคนยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวในระยะใกล้นี้

ส่วนที่เมืองเจิ้งโจวได้สั่งให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) และวางแผนที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยเมืองเจิ้งโจวที่มีประชากร 12.6 ล้านคน และเป็นที่ตั้งของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิต iPhone ให้กับบริษัทแอปเปิล อิงค์

การประกาศล็อกดาวน์ และการใช้มาตรการที่เข้มงวดตามนโยบายปลอดโควิด-19 (Zero Covid Policy) ของจีนกำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยข้อมูลของทางการจีนระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตเดือนเมษายนของจีนร่วงลงสู่ระดับ 47.4 จากระดับ 49.5 ในเดือนมีนาคม ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการทรุดตัวลงสู่ระดับ 41.9 ในเดือนเมษายนจากระดับ 48.4 ในเดือนมีนาคมโดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ทั้งภาคการผลิต และภาคบริการของจีนเผชิญภาวะหดตัว