สงกรานต์เวียนมาถึงอีกครั้ง ลูกหลานพากันกลับบ้านเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ หลายบ้านจัดพิธีรดน้ำดำหัว แต่หลายคนอาจไม่รู้ วิธีดั้งเดิมแบบล้านนา ไม่รดน้ำที่มือผู้ใหญ่
การรดน้ำดำหัวแต่เดิม เป็นวิถีของชาวล้านนา หรือ คนในภาคเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน แต่ด้วยการแพร่หลายของวัฒนธรรม ทำให้การรดน้ำดำหัวถูกผสมผสาน และเปลี่ยนรูปแบบไป
การดำหัว ไม่ได้หมายถึง เอาหัวไปดำน้ำ หรือ ทำให้หัวเปียกชุ่ม แต่หมายถึง "การสระผม" เป็นประเพณีที่ แสดงความเคารพต่อผู้อาวุโส ผู้มีพระคุณ หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพ
รดน้ำดำหัวฉบับล้านนา
รดน้ำดำหัวฉบับล้านนาแต่เดิม จะต้องเตรียมขันเงิน ภายในจะมีน้ำส้มป่อย ลอยดอกไม้ จากนั้นจะนำขันน้ำ ไปเคารพผู้อาวุโส ส่วนมากจะไม่นำไปรดน้ำดำหัวคนที่อายุน้อยกว่า แม้คนนั้นจะเป็นหัวหน้างาน หรือมีตำแหน่งงานที่สูงกว่า
การรดน้ำดำหัวจะยกมือไหว้ กล่าวคำอวยพร และขอสูมา ขอขมาในสิ่งที่พลาดพลั้งไป จากนั้นผู้อาวุโสจะรับไหว้ และให้พรกลับ ก่อนจะเอามือจุ่มลงไปในขันน้ำ เพื่อเป็นการรับคำขอขมา รับความเคารพของลูกหลาน ต่อมาท่านจะนำไปลูบศีรษะของตัวเอง ซึ่งตรงนี้เรียกว่า การดำหัว จากนั้นท่านจะนำน้ำส้มป่อยมาพรมให้ลูกหลานอีกที
แต่เดิมไม่มีการรดน้ำที่มือผู้ใหญ่
การเอาน้ำไปรดที่มือผู้ใหญ่ในอดีตนั้น ไม่นิยมทำ เพราะงานที่ใช้น้ำรดมือ จะมีอยู่ 2 งาน คือ งานแต่ง และงานศพ ดังนั้น ตามวิถีล้านนาจึงจะให้ผู้ใหญ่จุ่มแล้วประพรม รดตัวเอง ลูกหลานมีหน้าที่แค่ให้คำอวยพร และรอรับน้ำส้มป่อยที่ผู้ใหญ่ประพรมเท่านั้น
ทั้งนี้การรดน้ำดำหัวในปัจจุบันมีการผสมผสานวัฒนธรรม การแสดงออกของแต่ละภาค อาจมีหลากหลายรูปแบบ แต่วัตถุประสงค์ยังคงเหมือนเดิม คือ การขอขมาลาโทษ ในสิ่งที่เคยพลาดพลั้งไป และทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดกันขึ้น แต่สงกรานต์ปีนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงระบาด ลูกหลานควรระมัดระวัง สวมใส่หน้ากากในขณะที่ใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อห่างไกลโรค และเพื่อความปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19
ที่มาภาพ : ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อมูลจาก : คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, คลังเอกสารสาธารณะ โดย ปารเมศ วรรณสัย