กระทรวงยุติธรรม แถลงเปิดผลชันสูตรซ้ำ (ชันสูตรศพแตงโมรอบ 2) คลายปมสงสัย ก่อนเตรียมปิดคดี
ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้รับเรื่องร้องเรียนจากครอบครัวของ 'แตงโม' ให้มีการชันสูตรศพซ้ำ, พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, ผศ.วรวีร์ ไวยวุฒิ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, นายแพทย์ รักษชัย นาทองไชย หัวหน้ากลุ่มนิติพยาธิวิทยา สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว ผลการชันสูตรศพแตงโมครั้งที่ 2 ร่วมกับ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ในฐานะทนายความของคดี และเป็นตัวแทนแม่ของแตงโม ซึ่งดำเนินการไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
โดยในวันดังกล่าวใช้เวลาผ่าราว 3 ชั่วโมง มีแพทย์คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และเต๊ะ ศตวรรษ เศรษฐกร ในฐานะตัวแทนครอบครัวน้องแตงโม เข้าสังเกตการณ์ ก่อนถูกถอดถอน รวมถึงทนายกฤษณะ ศรีบุญพิมพ์สวย อดีตทนายความร่วมแถลงผลเบื้องต้นด้วย
ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ที่นางภนิดา แม่ของแตงโม ได้ทำหนังสือร้องเรียน แต่บางส่วนจะไม่สามารถเปิดเผย หากกระทบต่อรูปคดี โดยจะมีการส่งผลให้กับทนายเดชา ในฐานะตัวแทนครอบครัวได้รับทราบ
พันตำรวจเอกทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า คดีของแตงโมประชาชนให้ความสนใจมาก สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับเรื่องตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม จากนั้นวันที่ 15 ก็มีการประชุม และมีมติให้มีการผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 และดำเนินการผ่าในวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งจากวันแรกจนถึงวันนี้ ที่มีรายงานออกมาทั้งหมด ใช้เวลา 15 วัน เพราะต้องมีการรอผลทางห้องปฏิบัติการ
ยืนยันว่า การชันสูตรรอบ 2 มีประโยชน์ โดยจากข้อร้องขอ 11 ข้อ ของคุณแม่ทั้งหมด การชันสูตรรอบ 2 ทำได้เกือบทั้งหมด มีเพียงแค่บางส่วนทำไม่ได้เนื่องจากเป็นข้อจำกัดของสภาพศพ โดยผลชันสูตรศพรอบที่ 2 จะส่งให้ญาติคือ แม่ของแตงโม เนื่องจากเป็นผู้ร้องเรียนเข้ามา ตำรวจไม่ใช่คนร้องขอ แต่พนักงานสอบสวนสามารถใช้อำนาจตามกฏหมายร้องขอผลจากญาติได้
จากนั้น ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต ได้ส่งมอบชี้แจงข้อสงสัยทีละประเด็น โดยระบุว่า ได้ขออนุญาตจากทนายเดชา ในฐานะตัวแทนครอบครัว ในข้อที่แจ้งสาธารณะได้จะแจ้ง ในข้อที่แจ้งไม่ได้จะระบุไปว่ามีผล ส่วนรายละเอียดอยู่กับทางครอบครัว
ประเด็นสงสัยที่จะใช้ในการผ่าศพ 11 ข้อ คือ
1.บริเวณศรีษะโดยรอบของผู้ตาย - ไม่พบร่องรอยบาดแผล
2.บริเวณใบหน้าของผู้ตาย - ไม่พบบาดแผล มีภาพการตรวจศพแตงโมครั้งแรก ยืนยันว่า ศพเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย ด้วยสภาพอากาศและปัจจัยต่าง ๆ
3.บริเวณลำคอที่ผู้ตายสวมใส่สร้อย - ภาพแรกสร้อยคอใส่หย่อน ๆ ตามปกติ แต่ภาพที่หลุดออกมา ร่างกายเกิดลักษณะบวม จึงทำให้มีร่องรอยที่ถูกเข้าใจผิด มีการตรวจเนื้อเยื่อ ไม่พบบาดแผลลักษณะรัดคอ
4.บริเวณหน้าอกใต้ลำคอ - ได้ตรวจรอยไหม้ที่มีการตั้งข้อสังเกตแล้ว
5.บริเวณบาดแผลที่ขา - มีบาดแผล 22 จุด มีผลรายงานแล้ว
6.บริเวณบาดแผลบริเวณน่องและข้อพับทั้งสองข้าง - มีผลรายงานแล้ว
7.บริเวณเล็บมือทั้งสองข้างของผู้ตาย - ตัดไปตรวจซ้ำ
8.บริเวณแผ่นหลังของผู้ตาย - ไม่พบบาดแผลและร่องรอยที่สงสัย
9.บริเวณหลอดลมของผู้ตาย - มีผลรายงานแล้ว
10.บริเวณอวัยวะเพศของผู้ตาย - นำสารคัดหลั่งไปตรวจ มีผลรายงานแล้ว
11.เสื้อผ้าที่ผู้ตายสวมใส่ในวันเสียชีวิต - เสื้อผ้าที่ศพสวมใส่ในการชันสูตรครั้งที่ 2 ไม่ใช่ชุดที่ใส่ในวันเกิดเหตุแล้ว เนื่องจากมีการชันสูตรไปครั้งหนึ่งแล้ว
นอกจากนั้นได้มีการทำซีทีสแกน ไม่พบรอยแตกรอยหัก รวมถึงการตรวจฟันโดยทันตแพทย์อยู่ครบ
ด้านทนายเดชา ระบุว่า จะนำหลักฐานนี้ไปปรึกษากับตำรวจก่อน เพื่อดูว่ามีประโยชน์ต่อคดีหรือไม่ และชี้ว่าเป็นการเจตนาหรือประมาท โดยยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะจากการชันสูตรครั้งที่ 1 แต่ก็มีบางอย่าง เช่น บาดแผล 22 จุด ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แจ้ง ก็จะนำไปปรึกษาแพทย์ของนิติเวช
ตำรวจว่า มีนัยยะสำคัญหรือไม่ ทนายเดชามองว่า ผลครั้งที่ 2 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้เห็นว่าการผ่าชันสูตรศพของนิติเวชตำรวจมีมาตรฐานสากล และอาจก็มีข้อค้นพบใหม่ ๆ
ส่วนประเด็นผลชันสูตรซ้ำจะนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมคนบนเรือหรือไม่ ทนายเดชา ระบุว่า ต้องมีการนำไปเปรียบเทียบกับหลักฐานอื่น ๆ เช่นกล้องวงจรปิด เพราะเพียงแค่บาดแผลไม่สามารถชี้ได้ว่าเป็นเจตนาจริง ๆ หรือไม่ แต่จากที่ฟังผลส่วนใหญ่ตรงกัน
ทนายเดชา บอกว่า ตั้งแต่เป็นทนายความมา 36 ปี มีคดีเดียวที่ต้องผ่าถึง 3 ครั้ง คดีของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ แต่คดีแตงโมคิดว่าไม่ต้องแล้วทั้งนี้ยังระบุว่า เร็ว ๆ นี้ น่าจะมีการแจ้งข้อหาเพิ่ม คือ 1.ประมาท 2.ทำลายพยานหลักฐาน 3.ให้การเท็จ โดยเชื่อว่าเป็นคนใหม่ หรืออาจจะทั้งเรือ หรือเหลือไว้บ้าง
นอกจากนี้ที่แก้ข่าวให้ตำรวจ ยืนยันว่า ตำรวจเมื่อวานไม่มีการไปยื่นขอหมายจับแล้วไม่ได้ อย่างที่มีกระแสข่าว เชื่อว่าถ้ามีการขอหมายจากตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานจนครบแล้ว
ขณะที่ รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยืนยันสอดคล้องกันว่า การชันสูตรครั้งที่ 1 มีมาตรฐานดีแล้ว ส่วนการชันสูตรซ้ำเน้นข้อสงสัยเป็นจุด ๆ ส่วนปมสงสัยเรื่องบาดแผลที่ขา เกิดจากอะไรกันแน่ เชื่อว่าพนักงานสอบสวน น่าจะดำเนินการเปรียบเทียบบาดแผลกับวัตถุที่อาจเป็นต้นเหตุของแผลแน่นอน
ส่วนประเด็นการตรวจแอลกอฮอล์ของผู้ตายแล้วเจอ แต่ตรวจในคนเป็นกลับไม่เจอ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีการขับออกทางลมหายใจ ทำให้หากมีการดื่มแล้วเสียชีวิตก็จะยังคงมีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่ ส่วนคนเป็นก็หายไปตามเวลา
ขณะที่ประเด็นยูเรียในแผ่นอนามัย โดยทั่วไปยูเรียเป็นองค์ประกอบของปัสสาวะ ถ้ามีปนในแผ่นอนามัยก็ตรวจเจอ กรณีตรวจไม่เจอก็อาจเกิดจาก 1.ไม่มีปัสสาวะ 2.ถูกชะล้างจากการถูกแช่น้ำ