จากกรณีที่มีการปรับชื่อเมืองหลวงเป็น “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) นั้น จากเดิมคือ “Bangkok” เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ชื่อเดิมของ "กรุงเทพมหานคร" เมืองหลวงของประเทศไทยนั้น มาจากคำว่า "บางกอก" ซึ่งเป็นต้นฉบับของการเรียกทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า "Bangkok" นั่นเอง
แต่ทราบกันหรือไม่ว่า ทำไมถึงเรียกว่า "บางกอก" จากเดิม คำว่า "บางกอก" เป็นชื่อที่ใช้เรียก "กรุงเทพฯ" มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนชาวต่างชาติจะเรียกชื่อเมืองหลวงของเราว่า "แบงค็อก"
เรื่องเล่าของคำว่า “บางกอก”
จากหนังสือเรื่อง "เล่าเรื่องบางกอก" ของ ส.พลายน้อย นามปากกาที่รู้จักกันดี ของ สมบัติ พลายน้อย นักเขียนสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ประเพณี สังคมไทยด้านต่าง ๆ และนอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์อีกด้วย ซึ่งเขาได้เขียนเอาไว้ว่า "เมื่อได้พูดถึงบางกอกแล้วล่ะก็ หลาย ๆ คนจะพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับชื่อบางกอกด้วย เพราะชื่อนี้เป็นปัญหาที่ตัดสินกันไม่ได้ว่า คำว่า "บางกอก" มาจากภาษาอะไรกันแน่ และทำไมเรียกว่าบางกอก”
ต้องบอกเลยว่าแค่คำว่า “บางกอก” เพียงแค่คำเดียว แต่มีที่มาที่ไปหลากหลายเหลือเกิน และไม่มีเรื่องราวไหนที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่าเป็นที่มาของคำว่า “บางกอก” อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ที่มาแต่ละเรื่อง ก็เป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยก่อนคิดค้นขึ้น ตามสถานที่ และสภาพแวดล้อมนั่นเอง
ว่ากันว่ามีเกาะ เหลือคณา… “บางเกาะ”
จากการสันนิษฐาน บางท่านก็ว่า การที่เรียก “บางกอก” นั้น อาจจะมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา อีกทั้งบางแห่งมีสภาพเป็นเกาะ บางแห่งมีสภาพเป็นโคก พื้นที่ไม่สม่ำเสมอนัก จึงเป็นที่มาของคำว่า "บางเกาะ" หรือ "บางโคก"
แต่ในหนังสือจดหมายรายวันของ ท่านบาทหลวงเดอ ชวาสี ซึ่งหลวงสันธานวิทยาสิทธิ์ เป็นผู้แปล และเรียบเรียง ได้ให้เหตุผลไว้ว่า บางกอกคือจังหวัดธนบุรี ซึ่ง "บาง" แปลว่า "บึง" ส่วน "กอก" แปลว่าน้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับไปเป็นดิน หรือที่ลุ่มกลายเป็นดอน แต่ไม่ได้บอกว่ากอกนั้นเป็นภาษาอะไร
ทั้งนี้ เมื่อพันปีที่แล้ว "กรุงเทพฯ" เคยอยู่ใต้ทะเล จะได้เห็นภาพของอ่าวไทยที่กินไปถึงจังหวัด นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี และสุพรรณบุรี ส่วนกรุงเทพฯ นั้น เกิดจากตะกอนทับถมกันเป็นพันปีซี่งน่าจะเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.1600 เป็นต้นมา ก็ทำให้เรื่องราวสอดคล้องกันอยู่บ้าง
นอกจากนี้ยังมีบางท่านกล่าวว่า น่าจะมาจากคำว่า "Benkok" ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่า คดโค้ง หรืองอ อ้างว่า แม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนนั้นคดโค้งอ้อมมาก ชาวมลายูที่มาพบเห็นจึงพากันเรียกเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวไว้ว่า ความเห็นเหล่านี้คงเป็น "ความเห็น" ที่เกิดจากสิ่งที่พบเห็น เท่านั้น
แต่ที่น่าสนใจคือ นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง อ่านพบในจดหมายของท้าวเทพสตรี ที่มีไปถึงกัปตันไลต์ หรือพระยาราชกัปตัน ให้ข้อคิดเห็นว่า "Bangkok" ที่ฝรั่งแต่โบราณเขียนนั้น บางทีเขียนเป็น Bangkoh อ่านว่า "บางเกาะ"
ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกหนึ่งที่กล่าวว่า "บางกอก" หมายถึง พื้นที่ที่เป็นเกาะ เนื่องจากการขุดคลองลัดในสมัยพระชัยราชาธิราช ได้ทำการขุดจากบริเวณสะพานปิ่นเกล้าลงไปจนถึงหน้าวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง) ทำให้พื้นที่ทางฝั่งธนบุรี ในปัจจุบันกลายสภาพเป็น "เกาะ" ต่อมาจึงเรียกว่า บางเกาะ
เรียกตามชื่อต้นไม้...“บางมะกอก”
หรืออาจจะมาจากความเข้าใจที่ว่า บริเวณนั้นแต่เดิม เป็นป่ามะกอก ซึ่งก็คือ มีต้นมะกอกเป็นจำนวนมากนั่นเอง ดังนั้นจึงได้เอาชื่อของต้นมะกอกมาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ตำบลมะกอก หรือ "บางมะกอก" โดยคำว่า "บางมะกอก" มาจากวัดมะกอก ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดอรุณฯ และต่อมา ได้มีการกร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า "บางกอก"
ด้านหมอสมิธ มัลคอล์ม ซึ่งเป็นแพทย์หลวง กล่าวไว้ในหนังสือ “A Physician at the Court of Siam” ว่า ชื่อ บางกอก มาจากคำว่า "บาง" คือหมู่บ้านหนึ่ง ส่วนคำว่า "กอก" ซึ่งเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง (Spondias pinnata) อันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวยุโรป และว่ากันว่า ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในไทยสมัยศตวรรษที่ 16 เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้
สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา "กรุงเทพฯ" ยังเป็นเพียงหมู่บ้านที่เรียกกันว่า "บางกอก" ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านปลูกผลไม้ และมีหลักฐานจากวัดเก่า ๆ หลายวัด ว่าสร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียอีก ในแผนที่ และเอกสารของชาวตะวันตก ปรากฏชื่อเขียนต่าง ๆ เช่น Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancock และBancock ส่วนคำว่า Bangkok เป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศสใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่งก็ทรงใช้คำนี้ จึงได้ถือเป็นคำทางการตลอดมา
“บางกอก” ในคำบอกเล่าของต่างชาติ
ทั้งนี้ ‘บางกอก’ เคยเป็นที่ตั้งของด่านภาษี ซึ่งพ่อค้าชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้เมื่อปี 2160 - 2161 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กล่าวถึงบางกอกไว้ว่า “จากปากน้ำเข้าไป ๕ ไมล์ เป็นที่ตั้งของเมืองล้อมรอบด้วยกำแพง มีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี่เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือ และสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด
ทางด้าน ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า “สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่งแม่น้ำ โดยทวนขึ้นไปสู่เมืองสยาม ซึ่งหมายถึงกรุงศรีอยุธยา ถึง ๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหารซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา”
อีกทั้ง บาทหลวง ตาชาร์ด ซึ่งเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน บันทึกไว้ว่า
“...และโดยที่บางกอกเป็นเมืองสวนของประเทศสยาม ซึ่งมีผลไม้รสเยี่ยมทั่วราชอาณาจักรมารวมกันอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เขาจึงนำมาให้เป็นของกำนัลแก่เราเข่งหนึ่ง...”
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามา หลังจากขาดหายไปตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในขณะนั้น กรุงเทพฯ ยังไม่มีรถยนต์สักคันเดียว ใช้การสัญจรทางน้ำ แม่น้ำ และลำคลองเป็นหลัก เปรียบเสมือนถนนอันจอแจ มีเพียงใจกลางเมือง และย่านตลาดเท่านั้นที่มีถนนปูด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ๆ แต่ก็เป็นถนนสำหรับคนเดิน ส่วนถนนสำหรับรถสายแรกเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ในปี 2500 เมื่อกงสุลอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และนายห้างต่างประเทศได้ร้องว่า เรือสินค้าที่ต้องขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ นั้น เสียเวลามาก เพราะแม่น้ำคดเคี้ยว และไหลเชี่ยวในฤดูน้ำหลาก หากลงไปตั้งห้างแถวปากคลองพระโขนง แล้วขุดคลองลัดมาเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษมจะสะดวกขึ้นมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแยกจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง นำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเพียงด้านเดียว พูนดินเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า “คลองตรง” และ “ถนนตรง” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คลองหัวลำโพง” และ “ถนนหัวลำโพง”ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานนามใหม่ให้ถนนหัวลำโพงในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ว่า “ถนนพระรามที่ 4” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนสายนี้
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งจำนวนประชากร และสภาพบ้านเมือง โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี 2540 ที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก มองไปทางไหนในกรุงเทพฯ ก็เห็นแต่เครนยักษ์ที่กำลังก่อร่างสร้างตึก
แล้ว “กรุงเทพฯ” ล่ะ มาตอนไหน ?
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานนามเมืองนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ ราชธานีบุรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ" เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2535 ซึ่งคำว่า “กรุงเทพมหานคร” แปลว่า "เมืองของเทวดา มหานครอันเป็นอมตะ สง่างามด้วยแก้ว 9 ประการ และเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน เมืองที่มีพระราชวังหลายแห่ง ดุจเป็นวิมานของเทวดา ซึ่งมีพระวิษณุกรรมสร้างขึ้นตามบัญชาของพระอินทร์"
“กรุงเทพฯ” เมืองอันดับ 1 ครองใจนักท่องเที่ยว 4 ปีซ้อน
ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวหลายทวีปต่างก็ตั้งเป้าหมายปลายทางมาที่กรุงเทพฯ จนเป็นเมืองอันดับ 2 รองจากกรุงลอนดอนเท่านั้น ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนมากในรอบปี และในปี 2561 กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ซึ่งมีมากถึง 22.78 ล้านคน
ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อกรุงเทพฯ นอกพระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นแล้ว คนไทยยังยิ้มแย้มแจ่มใสในการต้อนรับแขกเป็นนิสัย ที่สำคัญจะหาอาหารในเมืองท่องเที่ยวราคาถูกอย่างกรุงเทพฯ นั้นไม่มีอีกแล้ว
เพราะฉะนั้น กรุงเทพฯ เลยกลายเป็นเมืองที่มีคนมาท่องเที่ยวมากที่สุดโลกเป็นเวลา 4 ปีซ้อน ดูก็รู้ว่า “กรุงเทพมหานคร” ถูกใจชาวต่างชาติสุด ๆ ไปเลย
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , เว็บไซต์ Thailaws