ครม.ไฟเขียวร่างแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์ วงเงิน 498 ล้านบาท มุ่งลดการบริโภคยาสูบ คุ้มครองประชาชนจากอันตรายของภัยบุหรี่

 

15 ก.พ. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนปฏิบัติการไปดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความชุกของการบริโภคยาสูบของประชากร และคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากอันตรายของควันบุหรี่ ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ โดยกรอบวงเงิน 498.039 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถการควบคุมยาสูบของประเทศ วงเงิน 138.800 ล้านบาท อาทิ ผลักดันนโยบาย ปรับปรุงกฎหมาย และระบบการบังคับใช้กฎหมาย ตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ WHO FCTC ประกอบด้วย การเฝ้าระวัง วิจัย จัดการความรู้ กำกับ และติดตามประเมินผลการควบคุมยาสูบในทุกระดับ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ป้องกันมิให้เกิดผู้เสพยาสูบรายใหม่ และเฝ้าระวังธุรกิจยาสูบ วงเงิน 99.186 ล้านบาท อาทิ การให้ความรู้ โทษ และพิษภัยของยาสูบ ให้แก่เด็ก เยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมาย รวมถึง การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ การโฆษณา และรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บำบัดผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ วงเงิน 51.832 ล้านบาท อาทิ การสร้างเสริมพลังชุมชน และเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อบำบัดผู้เสพยาสูบ การพัฒนาระบบบริการเลิกยาสูบ และสายด่วนเลิกบุหรี่

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การควบคุม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และเปิดเผยรายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ วงเงิน 12.500 ล้านบาท อาทิ การปรับปรุงกฎหมาย แนวทางการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วย การควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก การสร้างกระบวนการบริหารจัดการข้อมูลส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อวัดสารที่อยู่ในยาสูบ และสารที่ปล่อยออกมา

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ วงเงิน 165.721 ล้านบาท อาทิ การออกประกาศกฎกระทรวง กฎ ระเบียบ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สถานที่สาธารณะ และสถานที่ทำงานทุกแห่งปลอดควันบุหรี่ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม และค่านิยมของการเสพยาสูบ เพื่อให้การไม่สูบบุหรี่ในบ้าน สถานที่ทำงาน และสถานที่สาธารณะเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 6 มาตรการภาษี การป้องกัน และปราบปรามเพื่อควบคุมยาสูบ วงเงิน 30 ล้านบาท อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างภาษียาสูบ และระบบการบริหารการจัดเก็บภาษียาสูบ การป้องกันปราบปรามยาสูบที่ผิดกฎหมาย และการดำเนินการสำหรับผู้กระทำความผิด และมาตรการลดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ครม. มีมติ เมื่อ 28 ก.ย. 2564 เห็นชอบหลักการโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้นยาสูบ และผู้บ่มอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบของการยาสูบแห่งประเทศไทย ในฤดูการผลิต 62/63 ซึ่งปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบงบกลาง วงเงิน 159.95 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามมติ ครม. ดังกล่าว

"ทั้งนี้ การดำเนินการควบคุมปัญหาการบริโภคยาสูบจะส่งผลกระทบเชิงบวก ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาทิ ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับยาสูบลดลง และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาพรวม ประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศไทยยังได้รับการยอมรับการเป็นผู้นำในการควบคุมยาสูบทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ ” นายธนกร กล่าว