รายงานการทบทวนระบบบำนาญชราภาพของสหประชาชาติ ระบุว่าระบบบำนาญชราภาพของประเทศไทยในปัจจุบันควรได้รับการเสริมประสิทธิภาพให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการสร้างระบบใหม่เพิ่มเติม และไม่ควรอนุญาตให้มีการถอนเงินบำเหน็จก่อนกำหนด
 
 
ระบบบำนาญชราภาพของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 
ข้อมูลจากรายงานของสหประชาชาติพบว่าการสร้างระบบสิทธิประโยชน์ชราภาพรูปแบบใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่ออนุญาตให้ผู้ประกันตนสามารถถอนสิทธิประโยชน์เป็นเงินบำเหน็จก่อนกำหนดได้ ไม่ควรได้รับการอนุมัติ เนื่องจากจะเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มเติมอีกมากจากการดำเนินการดังกล่าว
 
รายงานการศึกษาทบทวนการคุ้มครองทางสังคมในประเทศไทย เรื่อง การทบทวนระบบบำนาญในประเทศไทย ได้วิเคราะห์กรอบสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพในปัจจุบัน และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบบำนาญในอนาคต การศึกษาจัดทำโดย “โครงการความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองทางสังคมสำหรับทุกคนในประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนเชิงวิชาการนำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)
 
รายงานระบุว่าระบบบำนาญในปัจจุบันได้สร้างรากฐานที่ดีสำหรับระบบบำนาญชราภาพที่มีความเพียงพอและยั่งยืนในระยะกลางและระยะยาว อย่างไรก็ดี ระบบบำนาญของไทยกำลังเผชิญข้อท้าทายจากการที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก
 
มาตรการต่าง ๆ ในการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพจะช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้นบนพื้นฐานที่ยั่งยืน ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนและผู้ประกันตนและยังสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีระดับสากล ข้อเสนอแนะจึงรวมถึงการยกระดับสิทธิประโยชน์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่สามารถดำเนินการได้ทันที การเพิ่มอัตราเงินสมทบและขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มเพดานค่าจ้าง ตลอดจนการลดระยะเวลาของการส่งเงินสมทบเพื่อรับสิทธิที่จะได้รับรายได้เงินบำนาญหลังเกษียณอายุจาก 15 ปี เป็น 5 ปี
 
รายงานยังเน้นให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อให้แรงงานนอกระบบและผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถเข้าร่วมในระบบได้ ซึ่งจะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในตลาดแรงงาน และช่วยคุ้มครองทั้งตัวแรงงานเองและครอบครัวของเขาได้มากขึ้น
 
“ข้อเสนอหลักคือการพัฒนาระบบบำนาญแบบหลายชั้น (multi-tier system) ซึ่งเป็นระบบที่แตกต่างจากเดิมที่เป็นการดำเนินการแบบแยกส่วน (fragmented arrangements) เพื่อนำไปสู่ระบบบำนาญแบบหลายระดับที่สามารถปรับให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของแรงงานได้ดียิ่งขึ้น”  นางกีต้า  ซับบระวาล  ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าว เเละว่า การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ระบบการคุ้มครองทางสังคมและระบบบำนาญมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง มีความเสมอภาคและมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง
 
รายงานการศึกษาดังกล่าวดำเนินการพร้อมกับการประกาศแผนของรัฐบาลในเรื่องการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นโครงการใหม่ และหากมีการจัดตั้งขึ้นอาจทำให้ลูกจ้างและนายจ้างต้องส่งเงินสมทบเพิ่มเติมจากที่สมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์บำนาญในอนาคต นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกันตนเลือกรับเงินบำเหน็จก่อนกำหนดได้หากไม่อยากรอรับเงินบำนาญหลังเกษียณ และให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประโยชน์มาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้อีกด้วย
 
รายงานแย้งว่าการนำเสนอระบบใหม่ ๆ เหล่านี้อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้มากนัก กลับแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น
 
“ประเทศต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการสร้างระบบใหม่ ๆ มาใช้แทนที่ระบบประกันสังคมที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน มีผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก” นายแกรม บัคเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าว
 
ทั้งนี้ ยังระบุ “การปฏิรูประบบประกันสังคมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เราไม่แนะนำให้มีการสร้างหรือเพิ่มระบบใหม่เข้ามา เนื่องจากระบบที่จะสร้างขึ้นมาใหม่นั้นจะดึงทรัพยากรจากระบบต่างๆ ที่มีอยู่เดิมมาใช้ และต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 30 ปี กว่าผู้ประกันตนในโครงการหรือระบบใหม่จะสะสมเงินให้ได้สิทธิประโยชน์ที่เพียงพอ”
 
นายบัคเลย์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเรียกร้องให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จก่อนกำหนดโดยไม่รอรับเงินบำนาญ หรือการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประโยชน์เป็นหลักประกันเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับการอนุมัติอย่างยิ่ง
 
“จุดแข็งที่สำคัญของระบบในปัจจุบันคือการมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับรายได้หลังการเกษียณอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มีแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถขอรับเงินสิทธิประโยชน์เป็นเงินบำเหน็จ โดยผู้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะใช้เงินบำเหน็จของตนทั้งหมดภายใน 5 -10 ปีแรกเท่านั้น และหลังจากนั้นต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ซึ่งจะสร้างปัญหาที่ใหญ่หลวงมากต่อผู้ประกันตน ต่อระบบ และต่อประเทศชาติโดยรวม” นายบัคลีย์ กล่าว