จ.ยโสธร ออกหนังสือด่วน หน่วยงานท้องถิ่นเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากพายุไลออนร๊อก ที่คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน 10-11 ต.ค.นี้
(10 ต.ค.2564) นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ยโสธร มีหนังสือด่วนที่สุดถึงหัวหน้าส่วนราชการ ประชาสัมพันธ์จังหวัดยโสธร นายอำเภอทุกอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร และนายกเทศมนตรีเมืองยโสธร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย พร้อมทั้งกำชับการดำเนินการตามแนวทางแผนเผชิญเหตุ หลังจากได้รับแจ้งจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า พายุโซนร้อนไลออนร๊อกจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 10-11 ต.ค. 2564
เพื่อเเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดังกล่าวจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัยน้ำท่วมขังและดินโคลนถล่ม จากกรณีฝนตกหนัก สามารถแจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนบูรณาการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าป้องกันการเกิดน้ำท่วมและเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ให้จัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาฯ เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้ผู้อำนวยการสั่งการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที และหากเกิดสถานการณ์ขึ้นในพื้นที่ให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยโสธร ทราบทางหมายเลขโทรศัพท์ 045-712244 หรือแจ้งผ่านไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยดำเนินการเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ยโสธร ได้ประสานขอรับสนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง (ขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 12 นิ้ว 1 เครื่อง) ดำเนินการสูบน้ำออกจากบุ่งน้อย-บุ่งใหญ่ ลงแม่น้ำชี เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำรอระบายในเขตพื้นที่ของเทศบาลเมืองยโสธร และกรณีฉุกเฉินสามารถเพิ่มเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือได้หากมีการร้องขอ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 14 อุดรธานี ได้สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร ดังนี้ รถขนย้ายผู้ประสบภัย จำนวน 1 คัน รถเครนบรรทุกเรือ จำนวน 1 คัน รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 คัน เรือท้องแบนพร้อมอุปกรณ์และเครื่องยนต์ จำนวน 2 ลำ เจ้าหน้าที่ จำนวน 3 นาย
กรณีพื้นที่ที่คาดว่าจะได้จะได้รับผลกระทบ การแจ้งเตือน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยโสธร ได้มีโทรสารแจ้ง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทุกอำเภอ ส่วนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ในการป้องกันและช่วยเหลือ รวมทั้งให้แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เตรียมการป้องกันและดูแลทรัพย์สิน ทั้งนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อสาร และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำสายหลัก สายรองในเขตพื้นที่ จ.ยโสธร
การเตรียมความพร้อม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยโสธร ได้แจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทุกอำเภอ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ในการป้องกันและช่วยเหลือ ฯ รวมทั้งได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดยโสธร ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ เรือท้องแบน และกำลังพล พร้อมให้การสนับสนุนหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่