สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ประชุมร่วมหน่วยงานรัฐ หารือแก้กฎหมายการเก็บ DNA นักโทษ ยกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม เน้นคำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เผยผลักดันตั้งแต่ปี 2558 รวม 6 ครั้ง แต่ยังไม่เป็นผล

 

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า กองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้จัดประชุม "ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสารพันธุกรรมของผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก" โดยมี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา, พล.ต.ต.สันต์ สุขวัจน์ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการกฎหมาย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันอุดมศึกษา เข้าร่วมประชุม

โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสารพันธุกรรมฯ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลสารพันธุกรรมฯ ที่ได้จากงานวิจัยเกี่ยวกับหลักการที่สำคัญสำหรับกฎหมายฐานข้อมูลสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ สำหรับนักโทษในประเทศไทย พร้อมทั้งขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้เข้าร่วมการประชุม เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้สามารถนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมและการสืบสวนสอบสวนอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ

 

 

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสารพันธุกรรมมาตั้งแต่ปี 2558 รวม 6 ครั้ง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพื่อต้องการยกระดับการพัฒนางานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การก่อการร้าย และความมั่นคง ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องการเก็บข้อมูลสารพันธุกรรม เช่น ประเทศอังกฤษ มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการระบุบุคคลผู้เสียชีวิตหรือผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลดีเอ็นเอ ส่วนประเทศฝรั่งเศส ใช้วิธีเก็บรักษาข้อมูลดีเอ็นเอของจำเลยจนถึงอายุ 80 ปี ก่อนจะลบข้อมูลออกเมื่อพนักงานอัยการหรือผู้ต้องหาร้องขอว่าไม่ปรากฏความผิด

"ปัจจุบันเรามีวิธีการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอ จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม ซึ่งไม่ได้กระทบกับการเจาะเลือด แต่อาจส่งผลต่อร่างกายของผู้ถูกจัดเก็บ ซึ่งเราได้รับความยินยอมแล้ว การศึกษาวิจัยในกรณีนี้จะมุ่งไปที่ตัวบุคคลที่ต้องการให้ถูกจำคุกในคดีสำคัญและร้ายแรงเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดเก็บสารพันธุกรรมกับบุคคลทั่วไปที่เสี่ยงโดนกล่าวหาว่าอาจไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพผู้อื่น และหลังจากนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะสรุปเนื้อหาเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลสารพันธุกรรมดังกล่าวต่อไป" พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าว