สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย นำโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในวัดเจดีย์ยอดทอง จำนวน 32 ชิ้น ส่งคืนและมอบให้ชาว จ.พิษณุโลก เอาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช หลังวิเคราะห์วัตถุเสร็จพบบางชิ้นอยู่ในช่วงสมัยสุโขทัย
หลังจากที่สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้ทำโครงการ ขุดค้นขุดแต่งวัดเจดีย์ยอดทอง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยได้ทำการขุดบริเวณโดยรอบ เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่เป็นประธานของวัด และได้ค้นพบวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง จึงได้นำไปวิเคราะห์วัตถุเพื่อสืบค้นข้อมูลทางวิชาการโบราณคดี ว่ามาจากช่วงยุคสมัยใด ก่อนเตรียมทำการพัฒนาพื้นที่ และบูรณะเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม หรือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ต่อไป
วันนี้ (16 ก.ย.2564) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดใหญ่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก นางรัตติยา ไชยวงศ์ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย พร้อมคณะ ได้นำเอาวัตถุโบราณสำคัญ จำนวน 32 ชิ้น ที่ผ่านการวิเคราะห์วัตถุแล้ว มาส่งคืนและมอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช ได้นำมาเก็บรักษาและจัดแสดง โดยมีคณะกรรมการวัดเจดีย์ยอดทอง ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และเทศบาลนครพิษณุโลก เข้าร่วมการรับมอบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในครั้งนี้ด้วย
นางรัตติยา เปิดเผยว่า วัดเจดีย์ยอดทอง มีเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่เดิมมีการชำรุดและพังทลายได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ราว ปีพ.ศ. 2533-2535 จากการศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์พบว่า ส่วนประกอบของชุดฐานเจดีย์แตกต่างจากแบบแผนของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่พบโดยทั่วไปเนื่องจากได้รับการบูรณะแล้ว รูปแบบของเจดีย์จึงอาจจะแตกต่างไปเพราะการบูรณะ หลักฐานโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในครั้งนี้ เป็นหลักฐานที่จะช่วยเรื่องกำหนดช่วงอายุของเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ได้ อาทิเช่น เศษเครื่องถ้วยจีน ส่วนปากโค้งออก เคลือบสีเขียวไข่กา เซาะร่องใต้เคลือบ เป็นวัตถุจากยุคช่างฝีมือ สมัยราชวงศ์เยวี๋ยน กลุ่มเตาหลงเฉวียน กำหนดอายุราวกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือ อยุธยาตอนต้น
สภาพปัจจุบันพบว่า ฐานเจดีย์เป็นหน้ากระดานซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น รองรับชุดฐานบัวอีก 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุที่มีการสร้างซุ้มจระนำเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนทั้งสี่ด้าน ซุ้มจระนำทั้งสี่ด้านแคบเพราะสัดส่วนที่จำกัด แต่ยังสามารถประดิษฐานพระพุทธรูปยืนไว้ได้ โดยมีการก่อยกพระแท่นในจระนำให้สูงเพื่อรองรับพระพุทธรูปเพื่อให้พระวรกายได้สัดส่วน ด้านหน้าเจดีย์ประธานด้านทิศตะวันออกมีวิหารวางตัวในแนวตะวันออก ตะวันตก
หลังจากนี้จะทำการกลบหลุม และของบประมาณเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อทำการขุดค้นเพิ่มและบูรณะพื้นที่โดยรอบ เพื่อทำการสื่อความหมายให้ทุกคนได้ทราบ ประวัติความเป็นมาและความสำคัญทางประวัติศาสตร์