สืบเนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติ ว่าด้วย โครงการด้านมนุษย์และ
ชีวมณฑล ครั้งที่ 33 ขององค์การยูเนสโก (ระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย) จะมีการพิจารณาประกาศให้ 'ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่' บรรจุในบัญชีรายชื่อ พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ปี 2564 ในวันที่ 15 กันยายนนี้
ด้วยความเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ เป็นระบบนิเวศภูเขาหินปูนที่สำคัญของประเทศไทย ที่ผู้คนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ชุมชนเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรักษาอัตลักษณ์ความเป็นเชียงดาวอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ยื่นเสนอ “ดอยหลวงเชียงดาว” จ.เชียงใหม่ ต่อองค์การยูเนสโก ให้เป็น “พื้นที่สงวนชีวมณฑล”
โดยเพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อมูลว่า
พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยหลวงเชียงดาว เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชนเผ่าชาวไทยภูเขา 5 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และชาวไทยล้านนา แต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย ภาษาพูด ที่แตกต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พื้นที่นำเสนอมีความสำคัญต่อจิตวิญญาณของผู้คนในล้านนา ดอยเชียงดาวเป็นขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สถิตของ เจ้าหลวงคำแดง ผู้มีฤทธิ์เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เป็นเจ้าปกครองเหนือกว่าผีเมืองหรือเทวดาอารักษ์ทั้งปวงในดินแดนล้านนา และมีเทวาสถานอยู่ ณ ถ้ำเชียงดาว อยู่เชิงดอยหลวงเชียงดาว ความเชื่อนี้ที่มิได้มีอยู่แค่ผู้คนในอำเภอเชียงดาวเท่านั้น แต่รวมถึงผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน และน่านด้วย
ทั้งนี้ ความเชื่อ ความผูกพัน และความศรัทธาต่อเจ้าหลวงคำแดง ส่งผลให้คนเชียงดาวทั้งชาวไทยพื้นราบ และชุมชนพื้นที่สูง เกรงกลัวในอำนาจเหนือธรรมชาติ ไม่กล้าทำชั่ว เพราะกลัวว่าเจ้าหลวงคำแดงจะเห็นการกระทำที่ไม่ดีแล้วจะลงโทษ ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าหลวงคำแดงถูกเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน พระสงฆ์ในล้านนาได้แต่คัดลอกตำนานไว้ในคัมภีร์ใบลาน ชื่อ ตำนานถ้ำเชียงดาว ที่ปรากฎในหลายสำนวนกระจายกันอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือของไทย และเชื่อว่าเจ้าหลวงคำแดงเป็นสัญลักษณ์ร่วมของชนเผ่าไทในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย ตำนานเจ้าหลวงคำแดงนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2555
การจัดการท่องเที่ยวของท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ ได้ใช้คุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรมผสมผสานกับคุณค่าของทัศนียภาพทางธรรมชาติ ในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม นอกจากนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอเชียงดาว ได้ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวตามเทศกาลในท้องถิ่น เช่น เทศกาลตานก๋วยสลาก และการบรรจุภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเรียนการสอนในสถานศึกษาเพื่อถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่
ขณะที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีระบบนิเวศที่โดดเด่น คือ ป่าเปิดระดับสูง (Subalpine vegetation) ซึ่งพบได้ไม่กี่แห่งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความโดดเด่นด้านภูมิทัศน์ด้วยภูเขาหินปูน มีดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย ภาพรวมพื้นที่นำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำปิงตอนบน มีทั้งระบบนิเวศดั้งเดิมที่ได้รับการปกปักรักษามาอย่างยาวนาน และพื้นที่ที่ได้รับการฟื้นฟูให้คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี ธรรมชาติที่เป็นแกนกลางของพื้นที่ดอยเชียงดาวได้อำนวยนิเวศบริการแก่ชุมชนโดยรอบ มี 'สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ที่หาได้ยากยิ่ง' เป็นถิ่นอาศัยของพรรณไม้มากกว่า 2,000 ชนิด หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของพรรณไม้ในประเทศไทย และมีพรรณไม้ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ภูมิประเทศนี้ทอดยาวลงมาจากตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ราบสูง Quinhai-Tibet และจีนตอนใต้ บางชนิดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย และมีบางชนิดเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เช่น เทียนเชียงดาว เทียนนกแก้ว ชมพูเชียงดาว และขาวปั้น
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า 672 ชนิด จาก 358 สกุล ใน 91 วงศ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวซึ่งเป็นหัวใจของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ กวางผา และเลียงผา รวมถึงสัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และมีความเป็นไปได้สูงที่จะค้นพบพืช และสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกได้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนเชียงดาวถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
สำหรับ 'พื้นที่สงวนชีวมณฑล' คือ พื้นที่สาธิตภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑล (Man and the Biosphere Programme) ของยูเนสโก (UNESCO) มีความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 ในการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ เพื่อหาคำตอบของความสมดุลย์ระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความเจริญของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
พื้นที่สงวนชีวมณฑลถูกกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ
1. อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2. พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น บนฐานของความยั่งยืน
3. โลจิสติกส์ สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การบริหารจัดการที่มี รวมถึงการเผยแพร่ตัวอย่าง และบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑล
ด้วยกิจกรรมมีเป้าหมายที่ 'ธรรมชาติ และมนุษย์' พื้นที่สงวนชีวมณฑลจึงประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ชุมชน ไม่แต่เพียงชุมชนภายใน หรือ ประชิดพื้นที่อนุรักษ์ แต่ขยายไปถึงชุมชนเมืองที่ได้รับประโยชน์จากการคงอยู่ยั่งยืนของบริการจากระบบนิเวศในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย
พื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมีบทบาทในระดับนานาชาติ โครงการมนุษย์และชีวมณฑล มีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกเป้าหมายบนเวทีสหประชาชาติ ซึ่ง
ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2519 ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล 4 แห่ง คือ
1.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ประกาศเมื่อ พ.ศ.2519 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศเมื่อ พ.ศ.2520 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
3. พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ประกาศเมื่อ พ.ศ.2520 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
4. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ประกาศเมื่อ พ.ศ.2540 ปัจจุบันรับผิดชอบกิจกรรมโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
และล่าสุด ปี 2564 พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งที่ 5 ของไทย คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว และอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเตรียมประกาศบรรจุในบัญชีรายชื่อ พื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ ในวันที่ 15 กันยายนนี้
ภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่, UNESCO