อ.เสิงสาง โคราช พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 15 รายเสียชีวิต 3 ราย เบื้องต้นพบ เป็นหมูที่มาจากการลักลอบเชือดของชาวบ้าน ด้านหมอเตือน กินหมูดิบระวังอันตรายถึงชีวิต ล่าสุดพบเคส กินเนื้อย่างติดเชื้อ
นายสานิตย์ ศรีทวี นายอำเภอเสิงสาง เปิดเผยว่าได้รับรายงานว่า ในพื้นที่ อ.เสิงสาง พบประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคหูดับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.-9 ก.ย. จำนวนทั้งสิ้น 15 ราย และเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวจำนวน 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายได้เสียชีวิตก่อนที่ผลตรวจจะออกมาว่าเป็นโรคหูดับ ทราบว่า 2 ใน 3 อยู่ในพื้นที่บ้านโคกสูง ม.3 ต.สระตะเคียน และบ้านซับ ม.4 ต.เสิงสาง ทั้ง 2 รายได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา
หลังทราบเรื่องจึงได้ประชุมวางมาตรการแก้ไขสถานการณ์ว่าจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงโทษของการรับประทานอาหารที่เป็นหมูดิบ รวมถึงการสัมผัสหมูที่อาจจะติดเชื้อของโรคหูดับ โดยหากมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสหมูที่ติดเชื้อโรค ก็อาจจะเข้าทางกระแสเลือดได้ พร้อมทั้งจะมีการจัดระบบสำหรับผู้ประกอบการเลี้ยงหมูในพื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และถูกสุขอนามัย โดยได้ประสานไปยังปศุสัตว์จังหวัด จากนี้จะมีหนังสือเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการในพื้นที่ที่จะสามารถนำหมูเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ได้อย่างถูกต้อง
สำหรับในพื้นที่ อ.เสิงสาง มีโรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็กเพียงแห่งเดียว จึงทำให้มีกลุ่มลักลอบขายหมูแบบไม่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาหมูติดโรคหลุดรอดเข้ามาในพื้นที่ ได้มอบหมายให้ อปท.ในพื้นที่ ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอ และสาธารณสุขอำเภอ ลงพื้นที่ตรวจสอบและสำรวจโรงฆ่าสัตว์ หรือ โรงชำแหละเพื่อจัดทำทะเบียน และควบคุมสอบสวนโรค พร้อมทั้งการติดตามได้ง่ายในอนาคตต่อไป
ด้าน นายแพทย์ มงคล เกิดแปลงทอง นายแพทย์ประจำโรงพยาบาล ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลเสิงสาง ตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสิงสาง ซึ่งเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลโรคหูดับในพื้นที่เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน ส.ค. มีผู้ป่วย 1 รายในพื้นที่ ได้เดินทางเข้ามาทำการรักษาภายในโรงพยาบาลเสิงสาง โดยมีอาการของโรคปอดติดเชื้อ ก่อนที่ทีมแพทย์จะตรวจพบเชื้อของโรคหูดับในกระแสเลือด ต่อมาต้นเดือน ก.ย. พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 4-5 ราย เดินทางเข้ามาทำการรักษาด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง จนถึงขั้นมีอาการไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลว ทีมแพทย์ต้องใส่ท่อ ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
ต่อมามีผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอาการดังกล่าว พร้อมทั้งมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการหูดับตามมาเพิ่ม หลังจากนั้นแพทย์ได้รอผลการเพาะเชื้อในเลือดประมาณ 3-5 วัน ปรากฏว่าพบว่าติดเชื้อโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis.) โดยเป็นเชื้อที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นการติดต่อจากการกินหมูดิบ หรือ การสัมผัสเนื้อหมูที่มีเชื้อโรค สามารถติดต่อได้ทางบาดแผล ขณะนี้พบผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอเสิงสางเข้าข่ายติดเชื้อทั้งหมด 15 ราย มีการยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว 13 ราย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดตับวาย ไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลว จำนวน 3 ราย
"สำหรับโรคไข้หูดับ สามารถติดเชื้อโดยตรงจากการที่ผู้ป่วย รับประทานหมูดิบ และสามารถติดเชื้อจาก การสัมผัสหมูโดยตรง หากมีบาดแผลบริเวณร่างกายเข้าสู่กระแสเลือด แม้จะไม่ได้รับประทานหมูก็ตาม"
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางรายจากการสอบถามไม่มีพฤติกรรมในการรับประทานหมูดิบ แต่ชอบรับประทานหมูกระทะเป็นประจำ จึงตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะย่างหมูไม่สุกดี และใช้ตะเกียบอันเดียวกันกับที่ใช้คีบหมูดิบ และตะเกียบที่ใช้ย่างหมูรับประทาน ทำให้เชื้อปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ ส่วนอีกกรณีผู้ที่ทำงานในเขียงหมูอาจจะไม่ได้รับประทานหมูดิบ แต่เป็นผู้ที่สัมผัสหมูโดยตรงหากมีบาดแผลก็สามารถติดเชื้อโรคดังกล่าวผ่านผิวหนังได้
ส่วนอาการของผู้ติดเชื้อโรคหูดับหลังจากได้รับเชื้อภายใน 3 ชั่วโมง หรือ ไม่เกิน 3 วัน จะพบอาการเบื้องต้นมีไข้ ถ่ายเหลว และปวดหัว หากติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำการรักษาโดยเร็ว เมื่อเชื้อขึ้นไปถึงสมองอาจจะทำให้เสียชีวิตหรือหูดับได้
สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหูดับมี 3 ส่วนด้วยกัน โดยต้องเริ่มจากผู้เลี้ยงหมูและผู้ขายหมู ต้องดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยให้ดีสำหรับการเลี้ยงหมู และไม่จำหน่ายหมูป่วยให้กับผู้บริโภค ส่วนที่ 2 คือผู้ที่ประกอบอาหารหากมีบาดแผลต้องสวมถุงมือ เพื่อป้องกันเชื้อ ส่วนที่ 3 คือผู้บริโภคไม่ควรรับประทานหมูดิบ เช่น เมนูลาบดิบ ก้อยดิบ หากจะรับประทานหมูควรปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อดังกล่าว