อาลัย 'ทมยันตี' หรือคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ศิลปินเเห่งชาติ ปี 2555 หลังลาลับโลกไปตลอดกาล ฝากผลงานควรค่าเเก่การจดจำตลอดไป

 

ในบรรณพิภพเเห่งนี้ หากจะเอ่ยชื่อนักเขียนสตรีผู้ลือเลื่อง จะต้องมีชื่อ 'ทมยันตี' ติดหนึ่งในนั้น เเม้เพลานี้ดวงวิญญาณของท่านจะลอยสู่ภพภูมิสรวงสวรรค์เเล้วก็ตาม เเต่ผลงานอันมีคุณูปการต่อวงการอักษรยังคงจรรโลงโลกให้งดงามเสมอ

13 ก.ย. 2564 มีการเเจ้งข่าวในวงการนักเขียนว่า ประเทศไทยได้สูญสิ้นนักเขียนท่านนี้ไปตลอดกาลด้วยอาการนอนหลับไปเฉย ๆ มิได้ตื่นขึ้นมาเป็นมิ่งขวัญอีกเเล้ว

ทมยันตี มีชื่อจริงว่า คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2479 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินเเห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2555 สร้างสรรค์ผลงานระดับตำนานมากมาย ที่รู้จักกันดี คือ ทวิภพ คู่กรรม เลือดขัตติยา ดั่งดวงหฤทัย ล่า ใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นต้น

ทมยันตี ยังมีนามปากกาอื่น ๆ อีก เช่น กนกเรขา ลักษณวดี โรสลาเลน มายาวดี วัสสิกา ด้วย

ข้อมูลจากวิกีพีเดียบันทึกไว้ว่า "ทมยันตีจบการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจาก รร.เขมะสิริอนุสสรณ์ เเละศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์เเละการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ เเต่สุดท้ายตัดสินใจไม่สอบเพื่อรับปริญญา ทำให้ได้วุฒิเพียงอนุปริญญาเเทน

บรมครูท่านนี้เริ่มเขียนเรื่องสั้นเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์และได้เขียนเรื่องสั้นต่อเนื่องอยู่ถึง 11 ปี ขณะที่เริ่มเขียนเรื่องยาวเรื่องแรกคือเรื่อง ในฝัน เมื่ออายุ 19 ปี ใช้นามปากกา โรสลาเรน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์

นอกจากคร่ำหวอดในวงการนักเขียนเเล้ว ยังเคยได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองเเผ่นดิน เเละรับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ปี 2522 เเละผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปี 2527"

ทั้งนี้ ระยะหลัง ทมยันตีเริ่มหันมาสร้างสรรค์ผลงานนวนิยายเเนวสัจธรรมชีวิต ตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์บ้านวรรณกรรม เพราะเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ ด้วยโรคหลอดเลือดตีบ ทำให้สุขภาพไม่ค่อยเเข็งเเรง

 

"ทุกวันดิฉันจะต้องท่องเดี๋ยวก็ตาย มันจะละ โลภ โกรธ หลง เดี๋ยวก็ตาย ดิฉันอยู่บนเตียงไอซียู รู้ตัวว่าใกล้ตาย ดิฉันรู้เลย พุทโธ สำคัญที่สุด เวลาที่ร่างกายเราแย่ มันจะไปมิไปอยู่รอมร่อ ถ้าเราท่องพุทโธเรื่อย ๆ ให้มันติดอยู่ในความทรงจำ เดี๋ยวมันจะท่องได้เอง ก่อนหน้านี้ดิฉันเคยตายแล้วค่ะที่โรงพยาบาลศิริราช เคยตายแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อเร็วนี้ ๆ ก็เกือบจะไปอีกหนหนึ่ง เป็นที่รู้กัน แต่ดิฉันอยู่เพื่อที่จะเขียนนวนิยายเล่มสุดท้ายในชีวิต เรื่อง จอมศาสดา"

"ดิฉันบอกกับตัวเองตลอดว่าเดี๋ยวก็ตาย ถ้าคนเรารู้ตัวว่า หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ตาย หรือถ้าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย เมื่อไรคุณดื่มน้ำไม่ลงสักอึก เดี๋ยวก็ตาย ถ้าเรารู้ตัวว่า เดี๋ยวก็ตาย ใครอยากได้อะไร เราก็ให้ ท่องไว้เถอะค่ะ เดี๋ยวก็ตาย มนุษย์เราเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง เวลาที่จะตายมันไม่กี่นาทีหรอก จริงๆ นะ แป๊บเดียวเอง ดิฉันบอกลูกแล้วว่า อย่าร้องไห้ ดิฉันเตรียมแล้ว ที่บ้านดิฉันพูดเรื่องความตายเป็นเรื่องปกติ ลูกยังบอกถ้าแม่ตาย โต๊ะเขียนหนังสือของแม่จะทำแบบนั้นแบบนี้" 

ทมยันตี ให้สัมภาษณ์กับมติชนรายสัปดาห์ เมื่อปี 2558

 

เเม้ทมยันตีจะไม่ใช่นักเขียนมือรางวัล เเต่ทว่า เหนือกว่ารางวัลใด ๆ นั่นคือ การยอมรับในบรรณพิภพให้เป็นสุดยอดนักเขียนอีกคนหนึ่งเเละจัดเจนในเรื่องการวางพล็อตที่นักเขียนรุ่นหลังควรค่าเเก่การเอาเป็นเเบบอย่าง

85 ปี ของสตรีที่มีนามปากกา 'ทมยันตี' จึงจะไม่จากไปไหนในหัวใจเเฟนนักอ่านอย่างเเน่นอน