ชลประทานโคราช สั่งจับตา 3 ลุ่มน้ำ เหตุฝนมาไว ทำมวลน้ำสะสมต่อเนื่อง เตรียมรับมือ ขณะที่มวลน้ำเขาใหญ่ยังไม่มีสัญญาณวิกฤต อ่างลำตะคองยังรับได้ แต่อ่างลำพระเพลิงเกิน 80 % ต้องเฝ้าระวังสูง
วันนี้ 11 ก.ย.2564 นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่าภาพรวมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่าใน 4 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 23 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดฯ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำภาพรวมอยู่ประมาณร้อยละ 71.40 ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำจุเกินร้อยละ 80 แล้ว มี 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำล่าสุดอยู่ที่ 133 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 86.10
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มีเกินความจุกักเก็บอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบะอีแตน อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ และอ่างเก็บน้ำห้วยเพลียก อ.ครบุรี
"ปีที่แล้วฝนจะตกฝั่ง อ.วังน้ำเขียว แล้วมวลน้ำไหลไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนจะลงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง และอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง แต่ในปีนี้ จะเห็นว่า มีฝนมาเร็ว และจะตกสม่ำเสมอต่อเนื่องที่ อ.วังน้ำเขียว อุทยานแห่งชาติทับลาน จึงมีมวลน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำมูลมลค่อนข้างมาก ส่วนอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ปริมาณน้ำยังอยู่ที่ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 71.55 ยังไม่มีสภาวะผิดปกติเร่งด่วนอะไร"
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะที่บริเวณ อ.ด่านขุนทด เเละ อ.เทพารักษ์ จะพบว่า มีฝนตกสม่ำเสมอ มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มวลน้ำจำนวนมาก ไหลลงมายังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง จึงต้องเร่งระบายน้ำออกด้านท้ายอ่างฯ แถว อ.โนนสูง อ.โนนไทย ซึ่งขณะนี้ มีลุ่มน้ำที่จะต้องเฝ้าระวัง คือลุ่มน้ำลำเชียงไกร ลุ่มน้ำลำพระเพลิง และลุ่มน้ำมูลตอนบน โดยแนวโน้มคาดว่า ปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะแต่ละปี ฝนเคยมาในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม แต่ปีนี้ฝนมาล่วงหน้า 1 เดือนตั้งช่วงปลายเดือนสิงหาคม จึงทำให้มีมวลน้ำสะสมและจะเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุ ที่ทำให้มีฝนตกลงมาในพื้นที่
สำหรับอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ที่มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 86 แล้วนั้น นายกิติกุล ระบุขณะนี้ได้ระบายน้ำส่วนหนึ่งออกลงลำธรรมชาติด้วย ซึ่งจะไปสะสมรวมกันกับน้ำฝนที่ตกลงในลุ่มน้ำลำพระเพลิงและลำมูลบน ซึ่งมวลน้ำจะไหลไปรวมกันที่ อ.โชคชัย อ.เฉลิมพระเกียรติ ตามลำดับ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องติดตามการแจ้งข่าวสถานการณ์ หรือการแจ้งเตือนจากทางอำเภอ ท้องถิ่น หรือจากทาง ปภ.อย่างใกล้ชิดด้วย แต่มวลน้ำก่อนนี้กว่าจะไหลไปลงลำน้ำมูลในพื้นที่ อ.พิมาย ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ดังนั้น มวลน้ำจำนวนมากที่เอ่อสูงหน้าเขื่อนพิมาย จะเป็นมวลน้ำจากฝนตกสะสมในพื้นที่ไหลลงลำน้ำมูล ซึ่งยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้ติดกับลำน้ำ ทั้งใน อ.พิมาย อ.ประทาย และในพื้นที่โซนทิศเหนือของจังหวัด ยังคงขาดแคลนน้ำจากปัญหาฝนทิ้งช่วงนานกว่า 2 เดือนแล้ว
ส่วนอ่างเก็บน้ำลำตะคองปัจจุบันยังสามารถรองรับน้ำได้อีก แต่ฤดูฝนเพิ่งจะเริ่มต้นไม่นาน คาดว่า ต่อจากนี้จะมีฝนตกต่อเนื่องมาอีก ซึ่งจะทำให้มีมวลน้ำฝนสะสมจำนวนมาก บนพื้นที่ต้นน้ำ อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรืออุทยานแห่งชาติทับลาน และเมื่อดินอิ่มตัว จะเกิดเป็นมวลน้ำไหลหลากหรือดินถล่มลงมาได้ ดังนั้น แม้ว่าตอนนี้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำ จะยังไม่แจ้งเตือนสัญญาณวิกฤต แต่ที่ราบเชิงเขาหรือพื้นที่ตามเส้นทางไหลของลำน้ำ ที่เคยประสบน้ำท่วมฉับพลัน จะต้องติดตามสถานการณ์การแจ้งเตือนภัยไว้ด้วย และให้เตรียมพร้อมรับมือ ขนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นที่สูง เพื่อลดวามสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงหน้าฝนนี้
สรุปคือ พื้นที่สูงบนภูเขา จะมีน้ำมาก เพราะฝนตกจนอิ่มตัว แล้วไหลลงลำธรรมชาติ หรือลงอ่างเก็บน้ำ แต่พื้นที่บริเวณปลายลำน้ำหรือท้ายน้ำ ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่ในขณะนี้