จากกรณีที่มีการเผยแพร่ เหตุการณ์ลูกค้าประกันภัยโควิด-19 รวมตัวปิดหน้าบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง สาขาสีลม หลังยื่นเคลมประกันแล้วไม่ได้รับเงินสินไหมตามทดแทนที่ซื้อประกันไว้ ล่าสุด จนท.รับปากจะจัดการให้แล้วเสร็จในวันที่ 10 ก.ย. 2564
ทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ได้สอบถามไปยังผู้ร้องทุกข์ น.ส.สุกฤตา กุมเพ็ชร หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเคลมประกันโควิดล่าช้า เล่าว่า ขณะนี้มีการรวมตัวผู้เสียหายในกลุ่มไลน์ มีจำนวนสมาชิกกว่า 1,600 คน ทุกคนเจอปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ ไม่สามารถติดต่อบริษัทฯ ได้ รอสายเกือบชั่วโมงก็ยังไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ และจากที่เคยคุยกันในกลุ่มผู้เสียหาย บางคนโทรติด แต่เมื่อแจ้งว่า จะติดต่อเรื่องเคลมประกันโควิด ถูกตัดสายทันที จึงนัดรวมตัวกันที่หน้าบริษัทดังกล่าว
น.ส.สุกฤตา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ตนสมัครทำประกัน 'เจอจ่ายจบ' ผ่านบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จนเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2564 ทราบผลว่าติดโควิด-19 จึงติดต่อผ่านไลน์ของบริษัท กระทั่งวันที่ 4 ส.ค.2564 เจ้าหน้าที่ติดต่อขอใบรับรองแพทย์เพิ่มเติม หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย เมื่อติดตามเรื่องก็ไม่เคยได้คำตอบ จึงเข้าไปที่หน้าเพจของบริษัทประกัน และพบว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับเงินจากกรมธรรม์ แต่ก็มีบางส่วนที่ได้รับการติดต่อกลับ โดยทำการติดต่อช่วงเดือน ส.ค. และได้รับเงินจากบริษัทฯ จึงทำให้เกิดคำถามว่า บริษัทควรจะจ่ายเงินทดแทนให้ผู้บริโภคอย่างเป็นระบบ คือ เรียงลำดับก่อน-หลัง ตามวันที่ติดต่อและส่งเอกสารมากกว่า และควรมีการแจ้งเตือน หรือ ควรมีระบบให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่า ทางบริษัทฯ ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว
หลังการรวมกลุ่มการเรียกร้องดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่จากทางบริษัทประกันภัยดังกล่าว ลงมาให้คำมั่นว่า จะจัดการให้แล้วเสร็จในวันที่ 10 ก.ย.2564 นี้ พร้อมเซ็นลายลักษณ์อักษรกำกับข้อความดังกล่าว
เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก กรณีไม่ได้รับเงินชดเชยจากการทำกรมธรรม์ประกันโควิด ล่าสุด คปภ. จึงได้ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจกับบริษัทประกันภัย ที่ขายประกันภัยโควิด-19 กรณีเรื่องร้องเรียนการจ่ายเคลมประกันโควิด-19 โดยเพิ่มมาตรการทางกฎหมาย มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2564 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และแก้ไขเรื่องร้องเรียน ที่บริษัทประกันภัยบางแห่ง จ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 “แบบเจอจ่ายจบ” ล่าช้า
อ่านเพิ่มเติม : คปภ. ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจ สำหรับบริษัทขายประกันโควิด-19