"ศรีสุวรรณ" ยื่นยุบ "ก้าวไกล" ฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง หลังเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ลั่นเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้

(20 ส.ค. 2563) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบและเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกล กรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล เตรียมจะเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวด 1 และ 2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และพฤติกรรมของนายรังสิมันต์ โรม ก็ระบุเหตุผลที่ไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่ส่อไปในทางขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92(2) ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายมาตรานี้ระบุห้ามพรรคการเมืองกระทำการใดที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้คำว่า “อาจจะ” ในทางกฎหมายมีความหมายเพียงแค่ มีพฤติการณ์ที่จะอาจจะผิดกฎหมาย ก็ถือว่าเข้าข่ายผิดตามมาตรา 92 (2)

ทั้งนี้ พฤติกรรมของพรรคก้าวไกล ตนเองคิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขแล้วไปแตะต้องสถาบัน ยิ่งมีการระบุว่าจะนำข้อเสนอ 10 ข้อ วันที่ 10 สิงหา มาเป็นส่วนของเนื้อหาในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรค เนื้อหานั้นยิ่งจาบจ้วงสถาบัน จึงเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่อยากให้ลุกลามบานปลาย กลายเป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ จึงต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม เสนอ กกต. ให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวอีกว่าแม้พรรคก้าวไกลจะมีการอ้างว่าไม่ได้ประสงค์ที่จะแก้ไข หมวด 1 และหมวดที่ 2 แต่เห็นว่าสมาชิกของพรรค หลายคนออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันถึงเหตุผลที่ถอนตัวไม่ลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ว่าเพราะพรรคต้องการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง

ดังนั้น การแก้ตัวโดยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ประสงค์จะแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 คงไม่เพียงพอ ต้องดูพฤติการณ์ที่ผ่านมาของพรรคนี้ด้วย เนื่องจากไม่รู้ว่าในอนาคตหากมีการตั้ง สสร.แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะไม่ไปก้าวล่วงแก้ในหมวด 1 และ 2 อีกทั้งมาตรา 255 จึงไม่สามารถเป็นเครื่องค้ำประกันได้ว่า จะมีการแก้ไขในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ เพราะมาตรา 255 ที่กำหนดว่าการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมุขมิได้ พร้อมย้ำว่าเป็นการป้องกันดีกว่าแก้ไข เพราะถ้าปล่อยให้มีการพูดจาอาจจะเลยเถิดลุกลามบานปลาย ไปจนไม่สามารถควบคุมปัญหาเหล่านี้