มีการตั้งคำถามว่า ทำไมคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ทั้งที่ คสช. ได้มีคำสั่งที่ 55/ 2559 ให้ความผิดที่เกี่ยวกับสถาบัน ความมั่นคง อาวุธสงคราม และ ฝ่าฝืน สั่งคสช. ไม่ต้องขึ้นศาลทหารอีกต่อไป

หากย้อนไปดูคำสั่ง คสช.ที่ 55/2559 พบว่ามีผลบังคับใช้วันที่ 12 กันยายน 2559 ในขณะที่เหตุการณ์หน้าสน.ปทุมวัน เกิดขึ้นวันที่ 24 มีนาคม 2558 นายธนาธร ยอมรับว่า อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมหน้าสน.ปทุมวันจริง และรับนายรังสิมันต์ โรม

หนึ่งในผู้ที่ศาลทหารออกหมายเรียก ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ขึ้นรถจริง แต่มีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการแค่ไปส่งบ้านพัก ไม่ได้พาหลบหนี เพราะตำรวจได้ปล่อยตัวนายรังสิมันต์ โรม เดินออกจากโรงพักเอง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่หน้าสน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ทำให้นายธนาธร ถูกแจ้ง 3 ข้อหา ซึ่งทั้งหมดเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบด้วย มาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่นทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มาตรา 189 ช่วยผู้ต้องหาหลบหนี และมาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ทีมข่าวได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ภายในกระพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ได้อธิบายว่า คดีของนายธนาธร ยังต้องขึ้นศาลทหาร เพราะเป็น "คดีอาญา"ที่เกิดขึ้นก่อนคำสั่งคสช.ที่ 55/2559 จะมีผลบังคับใช้ ส่วนคดีของ “ไผ่ ดาวดิน” หรือ นายจตุรภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น สั่งจำหน่ายคดี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ "ไม่ใช่คดีอาญา" แต่เป็นคดีที่ขัดคำสั่งคสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากการชุมนุมและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อปี 2558 และจัดเวทีพูดเพื่อสิทธิและเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับนายรังสิมันต์ โรม พร้อมพวกรวม 9 คน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีมาตรา 112 ของไผ่ ดาวดิน จากการแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย ด้วย ซึ่งศาลทหาร มทบ.23 ไม่ได้จำหน่ายคดี และพิพากษ ตัดสินจำคุก 5 ปี แต่สารภาพ จึงลดเหลือ เวลา 2 ปี 6 เดือน ปัจจุบัน ไผ่ ดาวดิน ยังถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น มีกำหนดพ้นโทษในเดือนพฤษภาคม นี้

ทำไมคดี "ธนาธร" ถึงต้องขึ้นศาลทหาร