มติสนช.133 เสียง ผ่านร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ เปิดทางรัฐคุมความมั่นคงไซเบอร์เบ็ดเสร็จ-ตัดอำนาจศาล หากพบภัยคุกคามระดับวิกฤต

สนช.133 เสียงเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ไซเบอร์ เปิดทางรัฐคุมภัยคุกคาม

วานนี้(28ก.พ.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้วยคะแนน 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฏหมายต่อไป โดยในการประชุมไม่มี สมาชิกสนช.คนใดติดใจ ใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น

สำหรับสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือ

มาตรา 59 แบ่งระดับภัยคุกคามไซเบอร์ 3 ระดับ คือ ไม่ร้ายแรงร้ายแรง และวิกฤต

มาตรา 61 ระบุว่าเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีอำนาจขอความร่วมมือจากบุคคลให้มาให้ข้อมูล หรือ ทำข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามไซเบอร์ และสามารถขอข้อมูล เอกสาร หากเห็นว่า เป็นประโยชน์ รวมถึงสามารถเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น

มาตรา 64 กำหนดอำนาจเพื่อรับมือภัยร้ายแรง 5 ข้อ คือ

1.เฝ้าระวังคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

2.ตรวจสอบคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อบกพร่อง

3.กำจัดข้อบกพร่อง หรือชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์

4.รักษาสถานะข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการใดๆ เพื่อดำเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์

5.เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะเท่าที่จำเป็น (เฉพาะข้อ 5 นี้ต้องยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาเป็นกรณีฉุกเฉินเสียก่อน)

มาตรา 65 กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เห็นว่า มีภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับที่ร้ายแรงขึ้นไป ให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถตรวจค้นสถานที่ได้ และค้นคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูล เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ เจาะระบบ หรือทำสำเนาเอาข้อมูลทั้งหมดในคอมพิวเตอร์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ไปได้ รวมถึงสามารถยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ไว้ได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์

มาตรา 67 เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว

ในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤต กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่ กกม.โดยเร็ว

บทลงโทษ มาตรา 73 กรณีที่ผู้เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

และมาตรา 74 กรณีฝ่าฝืน ไม่ให้เข้าถึงข้อมูล เมื่อเจ้าหน้าที่มีหมายศาล โทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาทและปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท

หลังจากสนช.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทำให้โลกโซเชียล เกิดการวิพาษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก ติด #พรบไซเบอร์ จนทำให้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ในเวลาไม่นาน

สนช.แจงพ.ร.บ.ไซเบอร์ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชน

ต่อมา นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แถลงยืนยันว่า ว่า ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภ้ยไซเบอร์ ไม่มีการรวบอำนาจรัฐ เพราะกฏหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมภัยคุกคามไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ

อีกทั้งมีการกำหนดประเภทของภัยคุกคามไว้ชัดเจน ระบบการบริหารระงับยับยั้งต้องอาศัยการบริหารงานโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลสถานการณ์ เพื่อให้เกิดระบบงานที่เป็นมาตรฐาน

ขอชี้แจงว่า ไม่มีส่วนใดของกฎหมายจะไปใช้อำนาจรัฐในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเน้นการป้องกันกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่ดีเท่านั้น ส่วนเข้าการตรวจค้นจะต้องมีคำสั่งศาลเข้าไปก่อน

ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์นั้น ยืนยันว่าจะกระทำโดยพลการไม่ได้ โดยต้องอำนาจจากศาลก่อน ส่วนที่มีการกล่าวหากันก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลเก่า แต่สนช.ได้ปรับแก้ไขกฎหมายแล้ว จึงอยากขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง

สนช.133 เสียงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ เปิดทางรัฐคุมภัยคุกคาม