สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เตรียมนำร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนไว้ใจ สนช. กรณีเสนอและพิจารณา พ.ร.บ.ข้าว ยืนยัน ต้องการป้องกันเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ

วานนี้ (18 ก.พ.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติข้าว ว่า เป็นกฎหมายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เสนอเข้ามา ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเสนอ แต่ได้ร่วมพิจารณาเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลได้พิจารณาและส่งกลับ โดยให้ปรับแก้ประเด็นที่มีปัญหาทั้งหมด เพราะสิ่งที่นำมาเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ข้อมูลจริง ซึ่งจะนำไปสู่ความเกลียดชัง

พร้อมทั้ง ยืนยันในเจตนารมณ์ ของกฎหมายว่า ต้องการดูแลเกษตรกร เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่ให้มีผลกระทบกับเกษตรกร ทั้ง เรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ การแลกเปลี่ยน และการขายเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร ซึ่งพันธุ์ข้าวที่มีในประเทศไทย มีมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวหลักกว่า 140 สายพันธุ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และจะทยอยขึ้นทะเบียนที่เหลือตามลำดับ จึงขอให้ประชาชนไว้ใจ สนช. เพราะหากไม่ไว้ใจก็ไม่สามารถทำอะไรได้

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงความชัดเจนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติข้าว ว่า เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ไม่ใช่รัฐบาล และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วตามขั้นตอน

จึงขอให้รอการชี้แจงของโฆษกกรรมาธิการ ส่วนที่ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนยันไปแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับการรับรองพันธุ์ข้าว และ การลงทะเบียนชาวนา เพราะเกรงว่า จะเป็นการจำกัดสิทธิ์ ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าวเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน

ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วย พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. … นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติข้าว และ นายพนิต ธีรภาพวงศ์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. … ภายหลังกรณีที่มีสื่อต่างๆ ในออนไลน์ เผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนความจริง ทำให้ชาวนาเกิดความเข้าใจผิดในร่างพระราชบัญญัติข้าว

โดยมี นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และนายวิชัย ชิตยวงษ์ นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย พร้อมด้วยชาวนากว่าร้อยคน จากภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง และ ภาคตะวันตก เข้าร่วมด้วย

พลเอก มารุต กล่าวว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติข้าวฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ โดยการยึดเอาชาวนาเป็นที่ตั้ง มีการแบ่งคณะอนุกรรมาธิการภาคการผลิตและคณะกรรมาธิการภาคการตลาด เพื่อให้ครบวงจรในการผลิตข้าวและขายข้าวทุกรูปแบบ อาทิ ส่งเสริมให้มีการรับรองเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อช่วยแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานของพี่น้องชาวนา

สร้างกติกาให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในการซื้อขายข้าวเปลือก รู้ถึงต้นทุนจริงว่าควรขายได้กำไรเท่าไหร่ การจัดให้มีเขตพื้นที่ ที่เหมาะสมในการปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อแนะนำและช่วยเหลือเกษตรกรในการปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ขอให้ชาวนาทุกคนมีความมั่นใจ ว่า ร่างพระราชบัญญัติข้าว ที่จัดทำขึ้นมานี้ จะทำให้พี่น้องชาวนาได้รับความเป็นธรรมและได้ราคาซื้อขายที่เป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. … จะเข้าสู่การพิจารณาวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562

ขณะเดียวกัน นายศุภชัย ศรีหล้า ในฐานะกรรมการนโยบายของพรรคพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงภายหลัง นาย กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... ได้เข้าชี้แจงเนื้อหาสาระของร่างกฏหมายดังกล่าว ต่อ คณะกรรมการนโยบายของพรรค ว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ กังวลใจเพราะในร่างไม่ปรากฏว่า มีเนื้อหาสาระใดบ่งบอกว่าจะก่อประโยชน์ให้ชาวนา โดยเฉพาะการทำสหกรณ์ชาวนา สมาร์ทฟาร์มเมอร์ และ การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ได้อย่างไร

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะมาตรา 20 ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้โรงสีข้าว เมื่อรับซื้อพันธุ์ข้าวต้องออกใบรับซื้อข้าวเปลือก และ ส่งไปยังกรมการข้าว ซึ่งหมายความว่าข้าวที่โรงสีจะรับซื้อต้องได้รับการอนุมัติจากกรมการข้าวเสียก่อน ส่งผลทำให้ระบบการค้าข้าวถูกควบคุม ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าว เท่ากับเป็นการควบคุมของระบบพันธุ์ข้าวโดยรวม

ดังนั้น การที่ สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ ขอวิงวอนให้ สนช. หยุดเรื่องนี้ไว้ แล้วรอให้มีสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง พิจารณาแทน ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลกระทบอย่างไร หากเรื่องนี้ผ่านจากสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราจึงจะมั่นใจในการตรวจสอบรายละเอียดและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ หาก สนช. ผ่านกฏหมายดังกล่าวจริง และ พรรคได้เป็นรัฐบาล ก็จะแก้ไขแน่นอน เพราะร่างกฏหมายดังกล่าวไม่ใช่แค่ไม่ปลดแอก แต่ยังเป็นการเพิ่มโซ่ตรวนให้ชาวนาอีกด้วย

นายกฯ ขอให้ไว้ใจ สนช. ทำ พรบ.ข้าว ป้องกันเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ