นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สุดเจ๋ง พัฒนานวัตกรรมซึ่งช่วยรักษาและซ่อมแซมกระดูกได้สำเร็จ หากถูกนำมาใช้ได้จริงช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เท่าตัว ในยุคสังคมผู้สูงอายุ

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมทีมนักวิจัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และทีมวิจัยร่วมกันแถลงข่าวโชว์ผลงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก มีคุณสมบัติคล้ายซีเมนต์ที่สามารถขึ้นรูปได้โดยการปั้นหรือการฉีดผ่านเข็มฉีดยาขนาดเล็ก ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส.

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เปิดเผยว่า ดังกล่าว เป็นงานวิจัยภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้พัฒนาขึ้น โดยใช้เวลาในการศึกษาวิจัยมากว่า 10 ปี (พ.ศ. 2552 -2561) มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ (Calcium phosphate) สามารถสลายตัวได้ในร่างกาย เซตตัวได้เองในสภาวะปกติของร่างกาย ไม่เกิดความร้อนในขณะเซตตัว สามารถฉีดผ่านเข็มฉีดยาเข้าไปรักษาในบริเวณที่เป็นโพรงหรือบริเวณที่แคบ ช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก โดยการสลายตัวที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และให้รูพรุนที่เป็นโครงสร้าง (Scaffold) ให้เซลล์กระดูก เลือดและของเหลวในร่างกายเข้าไปภายใน ช่วยให้เนื้อเยื่อกระดูกใหม่เจริญเติบโตได้ดี มีความปลอดภัยต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต

นวัตกรรม “ซีเมนต์กระดูก” เหมาะสำหรับการทำกระดูกที่มีความซับซ้อนของผู้ป่วย โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานวิจัยเป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ทำให้มีต้นทุนต่ำสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มาก หากนำไปใช้จริงคาดว่าราคาจะถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงเท่าตัว จากที่ปัจจุบันกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกตามมา ประกอบกับวัตถุดิบที่ใช้ในการรักษากระดูกในปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดและมีราคาแพงมาก หากนวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้รักษาจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมากและสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยโรคกระดูกเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น

สำหรับนวัตกรรมนี้ สามารถนำไปรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์กระดูกในกระดูกสันหลัง หรือวิธี Vertebroplasty ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักหรือทรุด กระดูกสันหลังผิดรูป หรือที่เกิดจากกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง หรือกะโหลกศีรษะชำรุด ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองกับสัตว์ เช่นหนู และกระต่าย และอยู่ระหว่างของอนุญาตทดลองใช้กับมนุษย์ ซึ่งหากนวัติกรรมนี้สามารถพัฒนามาใช้กับการรักษาจริงจะเป็นผลดีเป็นอย่างมาก


Cr.ปรีดา/นครราชสีมา