หลังจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มโทษปรับสำหรับนายจ้างที่ทำผิดกฎหมายสูงสุด 8 แสนบาทต่อคน ทำให้ผู้ประกอบการหลายจังหวัด ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมาย

นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมประมงจังหวัดพังงา ระบุว่า พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มีผลบังคับใช้วันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเปลี่ยนแปลงอัตราโทษปรับสูงถึง 8 แสนบาท

เห็นว่า ควรเปิดโอกาสให้ขึ้นทะเบียนต่างด้าวให้ถูกต้องก่อน จึงบังคับใช้กฎหมาย ปัจจุบันภาคประมง ยังขาดแรงงานกว่า 1,000 คน จึงขอให้ภาครัฐ เปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่ก่อน

ส่วนที่จังหวัดตาก แรงงานสัญชาติเมียนมา 400 คน ในอำเภอแม่สอด ต้องเดินทางกลับประเทศ หลังจากนายจ้างและผู้ประกอบการ ไม่กล้าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิด กฏหมาย และไม่สามารถนำแรงงานเมียนมา เข้ามาทำงานตรงกับอาชีพที่ระบุไว้ตามใบอนุญาตทำงาน ตาม พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ ซึ่งมีอัตราโทษปรับสูงตั้งแต่ 4 แสน - 1 ล้านบาท

ขณะที่แรงงานชาวเมียนมา ระบุว่า ต้องจ่ายค่านายหน้า 3 พันบาท แต่เมื่อไปถึงโรงงาน นายจ้างไม่กล้ารับ จึงต้องยอมกลับประเทศ เพราะกลัวถูกจับอยู่ฝั่งไทย

เช่นเดียวกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชะณัฐโรจน์ ครองมณีรัตน์ ตัวแทนผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ได้เชิญผู้ประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาร่วมหารือ หลัง พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว มีผลบังคับใช้ เนื่องจากในพื้นที่มีนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก

โดยที่ประชุมมีข้อเสนอ ขอให้รัฐบาลทำข้อตกลงความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 2-3 เดือน เพราะขั้นตอนการนำเข้าแรงงานต่างด้าว มีขั้นตอนยุ่งยาก

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ประกอบการ สามารถทำเอกสารชั่วคราว แทนใบสีชมพู หรือใบอนุญาตทำงานจากทางการ ยืนยันว่า พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ต้องขอเวลาดำเนินการ

นายกฯประมงจ.พังงาขอยืดเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.งานต่างด้าวฉบับใหม่