"สมชัย ศรีสุทธิยากร" ออกมาตำหนิกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 มาตรฐาน เพราะเซ็ตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่กลับให้คณะกรรมการชุดปัจจุบันกลับมาสมัครใหม่ได้ ไม่เหมือนกับกรณีของ กกต. ด้าน "มีชัย ฤชุพันธุ์" ตอบโต้ ยืนยัน กรธ.ไม่สองมาตรฐาน ชี้แจง กสม.เป็นองค์กรอิสระ กลับมาสรรหาใหม่ไม่ได้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระว่า ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กำลังจะถูกเซ็ตซีโร่เป็นหน่วยงานที่สอง แต่กลับให้โอกาสกสม.ชุดปัจจุบันกลับมาสมัครใหม่ได้ ขณะที่ กกต. ถูกเซตซีโร่ แต่กรรมการชุดปัจจุบันไม่สามารถกลับมาสมัครได้ ด้วยเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญระบุให้บุคคลที่เป็นองค์กรอิสระมาแล้ว ไม่สามารถสมัครองค์กรอิสระใดๆได้อีก

เหตุผลที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ชี้แจงคือ กสม. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มิใช่องค์กรอิสระ ดังนั้นจึงสามารถกลับมาสมัครได้ ไม่เหมือน กกต. ที่เป็นองค์กรอิสระ จึงไม่สามารถกลับมาสมัครได้อีก

นายสมชัย กล่าวต่อว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อาจลืมเปิดรัฐธรรมนูญดู เพราะในหมวดที่ 12 องค์กรอิสระ กสม. ถือเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การอ้างว่า กสม. มิใช่องค์กรอิสระ อาจเป็นการอ้างที่ฟั่นเฟือน ถือเป็นการร่างกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าว จะเข้าที่ประชุมสถานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปลายสัปดาห์นี้ จึงเชื่อว่า หาก สนช. ผ่านร่างฯ ก็จะกลายเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีปัญหา จนถึงขั้นนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวตอบโต้ว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กรธ.ได้รับรองให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงไม่สามารถกลับเข้ามารับการสรรหาได้เหมือนกับกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ แต่ถ้า กสม. สงสัยอะไร สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้ เช่นเดียวกับ กกต.

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ โดย กรธ. ไม่ได้คิดพิสดาร หรือสองมาตรฐาน เพราะกรธ.เสนอมาตรฐานอย่างเดียวกันทุกองค์กร

นายมีชัย ยังกล่าวถึงปัญหาความเห็นต่างเรื่องไพรมารีโหวตว่า ขณะนี้ กรธ. กกต. และพรรคการเมือง ยังมองเรื่องไพรมารีโหวตต่างกัน ซึ่ง กกต. บอกว่าไพรมารีโหวตเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต. ควรจะเป็นผู้กำหนดเขตการเลือกตั้งให้เหมาะสมด้วย

ส่วนการที่ กกต. จะให้ใบเหลือง-ใบแดง เพื่อกำกับดูแลการทำไพรมารีโหวต
นั้น คิดว่าอาจจะไปขัดต่อหลักการที่ให้พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพราะถ้า กกต. จะให้ใบเหลือง-ใบแดง แสดงว่า กกต. จะต้องเป็นผู้จัดไพรมารีโหวต โดยยืนยันว่า กติกาที่วางขึ้นใหม่ไม่ได้เป็นการวางยา กกต. ชุดใหม่ เพราะไม่ใช่ข้าศึกกัน แต่ต้องร่วมมือกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ในที่สุดปัญหาความเห็นต่างเรื่องไพรมารีโหวตจะจบลงได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องจบ และมีกรอบเวลาล็อกไว้แล้ว แต่จะจบลงด้วยดีหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้คิดว่ากฎหมายลูกจะถูกคว่ำ จึงยังไม่ได้คิดวิธีรับมือ เพราะรัฐบาลไม่ได้คิดในแง่ลบ และเชื่อว่า ไม่มีอะไรให้ต้องวิตกกังวลว่า จะต้องเลื่อนโรดแมป

ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอฟันธงว่า การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นปลายปี 61และขอให้เลิกคิดไปได้เลย เพราะเห็นได้จากความขัดแย้งของ กรธ. และ สนช. ในการตั้งกรรมาธิการร่วม ทำกฎหมายลูก เปรียบเหมือนเป็นละคร หรือ ลิเก ที่แสดงเอาดาบไม้มา
เสียบรักแร้กัน แต่ไม่ได้แทงกันจริง

ดังนั้นดูแล้วการเลือกตั้งยังอยู่อีกไกล ซึ่งหากจะยืดเวลาเลือกตั้งออกไปมีทางเดียวคือการคว่ำกฎหมายลูก แต่สุดท้ายจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับนายกฯ

"มีชัย" โต้ "สมชัย" ยัน กรธ. ไม่ 2 มาตรฐาน แจง กสม. ชุดเก่าสมัครใหม่ไม่ได้