นักวิชาการ ชี้ มาตรา 44 เร่งรัดสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย- จีน เอื้อการทุจริต ทำให้เกิดช่องว่างการฮั้วราคา พร้อมเชื่อการลงทุนจะไม่คุ้มทุนเพราะเป็นเส้นทางระยะสั้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 7 เรื่อง "รถไฟไทย-จีน : ใครได้ ใครเสีย" โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ / รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ / ผศ.วรศักดิ์ มหัทธโนยล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ /และ รศ.ดร. ณรงค์เดช สรุโฆษิต นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อถกข้อปัญหาเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้าง179,000 ล้านบาท

โดยนักวิชาการส่วนใหญ่ มองว่า รถไฟทางคู่มีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร้วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้น และมองว่าการมีรถไฟเส้นดังกล่าว ที่ทางรัฐบาลหวังว่าจะทำให้เกิดการเจาะตลาดใหม่นั้น เป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากจะเจาะตลาดจีนต้องทำทีละมณฑล

ดังนั้น ไทยควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสำคัญกว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และรัฐบาลต้องรู้ให้เท่าทันจีน ++นอกจากนี้ ยังมองว่าการลงทุนจะไม่คุ้มทุนเพราะเป็นเส้นทางระยะสั้น แค่กรุงเทพ-นครราชสีมาเท่านั้น และค่าโดยสารอาจมีราคาแพงกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ รวมถึงปัจจุบันเครื่องบินโลว์ คอร์ส ยังมีราคาถูกลงมาก จึงอาจทำให้ประชาชนเลือกใช้บริการน้อย และไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะเกิดการแข่งขันทั้งระบบจริง

ทั้งนี้ยังพบปัญหาด้านข้อสัญญา ที่ตกลงกันด้านคุณธรรมเท่านั้น โดยไม่พบการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแบบจริงจัง อีกทั้งยังไม่พบความชัดเจนเรื่องบทลงโทษ และยังพบว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 มีการเซ็นสัญญาเปลี่ยนแปลงการทำรถไฟรางคู่เป็นรถไฟความเร็วสูง และยังพบว่า ในการประกาศใช้ ม.44 เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในข้อ 4-8 ไม่สามารถหลุดพ้นการทุจริตได้ โดยข้อ 4 และ 5 ที่พบช่องว่างที่สามารถฮั้วราคากันได้ และข้อ 7 ที่พบช่องว่างทำให้เกิดการเสนอราคาโดยทุจริต