ประธานกรรมาธิการด้านสื่อมวลชนของ สปท. ยืนยัน พ.ร.บ.คุมสื่อไม่มีการตีทะเบียนสื่อแน่นอน แต่เปลี่ยนเป็นการออกใบรับรอง โดยหน่วยต้นสังกัดเอง พร้อมยืนยันต้องมี 2 ตัวแทนภาครัฐนั่งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เตรียมนัดหารือปรับแก้ร่างฯ 9 พ.ค.นี้ ด้าน "นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ" ยืนยันรัฐบาล พร้อมฟังความเห็นสื่อ ก่อนออกกฎหมาย

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า กระทรวงยุติธรรมได้มอบให้ฝ่ายกฎหมาย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หารือในเรื่องนี้แล้วในหลายประเด็น โดยเฉพาะสาระสำคัญของกฎหมาย / ความเห็นของสื่อมวลชน / มุมมองของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งประเด็นบทบาทของสื่อมวลชนกับการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาของประเทศ

ซึ่งกระทรวงยุติธรรม เปิดกว้าง และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นผลดีต่อส่วนรวม โดยรัฐบาลจะต้องหารือร่วมกับสื่อมวลชน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง ซึ่งนายกฯได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ไว้แล้ว

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการตีทะเบียนสื่อ และการออกใบรับรองสื่อ / ตนจึงขอยืนยันอีกครั้งว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปท.ได้ยกเลิกอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ในการออกใบอนุญาต และถอนใบอนุญาตผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชนแล้ว

ดังนั้น จึงไม่มีการตีทะเบียนสื่อแต่อย่างใด โดยเปลี่ยนเป็นการออกใบรับรองแทน ซึ่งออกโดยองค์กรสื่อมวลชน หรือหน่วยต้นสังกัดเอง ซึ่งปัจจุบันก็ได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอดอยู่แล้ว เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่

ขณะที่พลอากาศเอก คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน สปท. กล่าวว่า ระยะเวลาการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ เพื่อส่งต่อให้รัฐบาล ไม่ใช่มีเวลาแค่ 7 วันตามที่ปรากฏในข่าว แต่กรรมาธิการมีเวลา 30-40 วัน ดังนั้น กรรมาธิการ จึงไม่ต้องเร่งรีบ เพื่อความรอบคอบสมบูรณ์แบบที่สุด

โดยหลักการ ทางกรรมาธิการได้เปลี่ยนรูปแบบจากใบประกอบวิชาชีพ มาเป็นใบรับรองที่ออกโดยผู้ประกอบการแทน แต่ยังยืนยันตามมติ สปท. 141 เสียงว่า จะต้องมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมีโควต้าสัดส่วนของรัฐ 2 คน ซึ่งวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ กรรมาธิการจะประชุม เพื่อนำข้อเสนอต่างๆ มาหารือ และหาข้อสรุป เพื่อปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ต่อไป

ด้านร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ ประธาน สปท.มีคำสั่งนัดประชุม สปท.ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ เวลา 09.30 น. โดยมีวาระสำคัญ คือการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เรื่องแนวทางการปฏิรูปข้าวอย่างเป็นระบบ และพิจารณาแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปที่สำคัญ และเร่งด่วน 27 วาระ ในปี 2560 พร้อมสั่งงดประชุม ในวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติภารกิจในฐานะกรรมาธิการได้อย่างเต็มที่

"สุวพันธุ์" ยืนยันรัฐบาลพร้อมคุยสื่อ ก่อนออกพ.ร.บ.คุมสื่อ