นายกฯ ตอบชัด เซ็นเด้ง "บิ๊กต่อ–บิ๊กโจ๊ก" ช่วยงานสำนักนายกฯ เปิดทาง กก.สอบข้อเท็จจริงใน 60 วัน ลงนามตั้ง 3 กก. สอบเย็นนี้ ยันไม่ได้เป็นการลงโทษ แต่เปิดทางให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไร้แทรกแซง เมื่อผ่านการตรวจสอบ ไม่มีมลทินแล้วก็จะกลับมาได้อย่างสง่างาม

วันที่ 20 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาช่วยที่สำนักนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ว่าอย่างที่ทราบว่า มีประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเรื่องคดีความทั้งหลาย ซึ่งต้องให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปได้ไม่มีการแทรกแซง แต่ต้องย้ำว่า ทั้ง 2 ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปได้ด้วยความสะดวก ดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการก้าวก่าย จึงมีการโอนทั้ง 2 ท่านมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เป็นระยะเวลา 60 วัน เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบเรื่องที่มีข้อขัดแย้งทุกเรื่องทุกคดีที่มีการกล่าวโทษกันให้แล้วเสร็จ โดยภายในวันนี้ ตนจะมีการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจำนวน 3 คน ทั้งนี้การแต่งตั้งโอนย้ายมีผลทันที ซึ่งยืนยันว่าเป็นการย้ายชั่วคราวไม่ได้เป็นการลงโทษ ทุกอย่าง ขั้นตอน เงินเดือน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

เมื่อถามว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบด้วยใครบ้าง นายกฯ กล่าวว่า เป็นตำรวจ เป็นอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และมาจากสำนักเลขาฯ ทั้งนี้การเรียกทั้ง 2 คน เข้ามาพูดคุยเมื่อช่วงเช้าก็เพื่อแจ้งเรื่องนี้ และอธิบายพูดคุยว่า จะปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงที่เข้ามาช่วยราชการ ซึ่งทั้ง 2 คน รับปากว่า จะพยายามไม่พูดอะไรอีก ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ให้สืบทราบความจริง ให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปข้างหน้าได้โดยไม่มีการแทรกแซง ไม่ให้ลูกน้องทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดอะไรอีกแล้ว ซึ่งคิดว่าแต่ละท่านก็เป็นผู้ใหญ่พอแล้ว ท่านรู้ว่าควรจะพูด หรือไม่พูดอะไร ซึ่งก็มีการแถลงข่าวไปแล้ว

"ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าแล้ว อย่าให้มีการก้าวก่ายล็อบบี้ดีกว่า และหลังการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ก็จะมีการพูดคุยเพื่อให้นโยบายต่อเลย ส่วนการหารือกระบวนการทำงานคณะกรรมการจะไปหารือกันเอง ผมไม่อยากแทรกแซงหรือชี้นำ"

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่า ความขัดแย้งในแวดวงตำรวจจะเรียบร้อย นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนก็ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ไม่ได้สบายใจที่ต้องทำอย่างนี้ แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำเพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้เดินไปข้างหน้าได้ มีหน้าที่ในการดูแลประชาชน และตนเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น กรรมการทั้ง 3 คน ซึ่งตนไม่อยากไปชี้นำอะไร แต่หากครบ 60 วัน ผลการพิจารณาออกมาแล้ว กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีการแทรกแซงก็จะพิจารณาโอนย้ายกลับมาได้

เมื่อถามว่า ตอนที่แจ้งเรื่องการเข้ามาช่วยราชการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ มีท่าทีอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า หลังจากแจ้งรายชื่อคณะกรรมการให้กับทั้ง 2 ท่านทราบ แน่นอนว่ามีความไม่สบายใจ แต่ทั้ง 2 ท่าน ก็ยอมรับและเห็นด้วยว่าคนที่จะมาเป็นกรรมการฯ นั้นมีความเป็นกลาง จึงยอมรับได้ สำหรับตนเองก็ไม่ได้มีธงว่า ต้องตัดสินออกมาเป็นอย่างไร วันนี้ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง การทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แถวสอง แถวสามที่อาจจะเข้าข้างใคร คนใดคนหนึ่งอาจจะทำให้การทำงานไม่เต็มสภาพ นี่คือสิ่งสำคัญมากกว่า ดังนั้นการเอาคู่ขัดแย้งมาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ ทุกฝ่ายจะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ปัญหาประชาชนสำคัญที่สุด อย่างเช่น บ่อนการพนัน หนี้สิน ฯลฯ

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงนายพล ต. ทำไมถึงเจาะจงเป็นคนนี้ ไม่เป็นคนอื่น นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่อยากไปพูดต่อ จะเป็นการก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม อย่างที่บอกไม่อยากให้ปรากฏชื่อพวกนี้ขึ้นมา อยากให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีการแทรกแซงล็อบบี้เกิดขึ้น แบบนี้ดีกว่า เราทุกคนจะได้สบายใจว่ากระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่ได้สบายใจที่ทำแบบนี้ แต่ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาผู้ที่มีความขัดแย้งออกไปก่อน ให้กระบวนการยุติธรรมเดินต่อ ไปได้ และตนเชื่อว่าวันนี้ทุกคนเข้าใจว่า ทำไมถึงต้องมีวันนี้เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงการประชุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 21 มี.ค.นี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนได้เรียกประชุมกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้ช่วยฯ ผู้บัญชาการภาค และผู้บัญชาการทั้งหลายเพื่อชี้แจงนโยบาย แต่คงไม่มีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าสื่อเป็นกระบอกเสียงอยู่แล้ว ซึ่งตนก็พูดตรงไปตรงมาที่สุด เรามาอยู่ตรงนี้เพื่อดูแลประชาชน ไม่อยากให้ข้าราชการแถวสอง แถวสามต้องเข้าข้างฝ่ายใด

"ขอให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไปดีกว่า แล้วท่านทั้ง 2 ก็จะได้สบายใจว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวน สอบสวนอะไร เพราะถูกโยกมาช่วยงานที่สำนักนายกฯ แล้ว ไม่มีใครกล่าวหาท่านได้ว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ที่ผมทำแบบนี้ก็เพื่อปกป้องท่านทั้ง 2 ด้วย ยืนยืนว่าไม่ได้เป็นการลงโทษ ทั้ง 2 ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ เมื่อท่านผ่านการถูกตรวจสอบไม่มีมลทินแล้วก็จะสามารถกลับเข้ามาได้อย่างสง่างาม"