"คารม" รองโฆษกรัฐบาล ย้ำชัดรัฐบาลมีแผนป้องกันภัยชัดเจน โต้กลับ "พิธา" อย่าด้อยค่านายกฯ ทำร้ายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

วันนี้ 18 มีนาคม 2567 นายคารม กล่าวว่า กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวพรรคก้าวไกล พูดในทำนองว่ารัฐบาลไม่มีแผนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น แท้จริง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 6 นั้นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับชาติ มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติหรือ “กปภ.ช” โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคนที่ 1 ซึ่งตามกฎหมายนี้ ในมาตรา 7 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ กปภ.ช เป็นผู้กำหนดนโยบายในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอยู่แล้ว

นายคารม เน้นย้ำว่า เรื่องแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ จึงมีอยู่ไม่ได้เป็นไปตามที่นายพิธา พูดแต่อย่างใด และเรื่องนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ทำตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวมาเป็นลำดับ โดยได้มีหนังสือถึง ผู้ว่าการจังหวัดทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เรื่องการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปี 2566-2567 และในเขตกรุงเทพมหานคร นายอนุทินฯ ก็ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2566 เรื่อง การเตรียมการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของปี 2566-2567 เช่นกัน และต่อมาเมื่อนายอนุทินฯ เห็นว่าสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กรุนแรงขึ้น นายอนุทินฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้อำนวยการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง เฝ้าระวัง ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุ ป้องกันลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เช่นการเผาในที่โล่ง การเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งแสดงถึงการเอาใจใส่ต่อปัญหาดังกล่าวอย่างจริงของรัฐบาล เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศ แต่ปัญหาเรื่องไฟป่านั้น มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุเช่น ปัญหาพี่น้องประชาชนที่เข้าไปเก็บของป่า และประมาททำให้เกิดไฟไหม้ ทั้งโดยตั้งใจและประมาท ส่วนเรื่องปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นก็มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ เช่นกันทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้มีข้อสั่งการให้มีการตั้งทีมไทยแลนด์ เพื่อประสานการแก้ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว โดยได้มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

 

 

ส่วนเรื่องที่นายพิธา กล่าวว่าหากพรรคก้าวไกล ได้เป็นรัฐบาล จะให้องค์การปกครองส่วนท้องเข้ามาดำเนินการเองจะมีประสิทธิภาพกว่าโดยจัดงบประมาณให้แห่งละ 3 ล้านบาท เรื่องนี้ จะถูกหรือผิดหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ต้องรอให้พรรคก้าวไกลมาเป็นรัฐบาลก่อน แต่เรื่องสาธารณภัยนั้น ตามกฎหมายนั้นมีหลายอย่างเช่น ที่เจออยู่ปัจจุบันคืออัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย และภัยแล้ง ซึ่งความสามารถในการจัดการเรื่องภัยพิบัติ ทั้งด้านความรู้ อุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากรนั้น รัฐบาลส่วนกลางจะมีความพร้อมในการแก้ไขมากกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งการที่จะประกาศว่าจังหวัดไหน เป็นเขตภัยพิบัติหรือไม่ ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะมีผลหลายด้าน และการที่รัฐบาลใช้งบกลางในการแก้ไขปัญหา จุดมุ่งหมายก็คือการแก้ไขปัญหาอันเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างแต่อย่างใด

“การที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา เพื่อนำไปพูดในสภาฯ ตามหน้าที่นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่นายพิธา ต้องเปิดใจให้กว้าง และรับฟังข้อเท็จจริงจากรัฐบาล ขณะนี้ งบประมาณปี 2567 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาฯ แต่รัฐบาลก็สามารถบริหารงบประมาณในการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง ความจริง ๆ การที่นายพิธา ลงพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือ ในขณะที่นายกฯ ปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่นั้น แม้ไม่ผิดอะไร แต่ในทางการเมือง ก็คือการแย่งซีนกับนายกรัฐมนตรี และความไม่รู้กาลเทศะ จุดประสงค์ชัดเจนเพื่อด้อยค่านายกรัฐมนตรี ทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาล ไม่ใช่อยากลงพื้นที่ดูปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปพูดในสภาฯ เพราะข้อมูลเหล่านี้ หาได้ไม่ยากจาก สส.ของพรรคก้าวไกลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องวุฒิภาวะ หรือไม่รู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะสม “นายคารม เน้นย้ำ