"พิธา" ชี้ นิรโทษกรรม ไม่ควรผูกขาดรัฐประหาร วอน 3 เสาหลัก ผนึกกำลังสร้างสมานฉันท์

วันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุม พิจารณาญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน

ที่ผ่านมามีการนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ครั้ง และหากมีเป้าหมายชัดเจนว่าเพื่อลดความขัดแย้งสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้การเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า เพื่อคืนพ่อให้ลูกสาว หรือเพื่อคืนคนที่อยู่ต่างประเทศที่มีความเห็นแตกต่างกับรัฐได้กลับมาสู่ภาตุภูมิ ตนคิดว่าการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือมีภาพลบตลอดเวลา

นอกจากนี้ โอกาสในการรับนิรโทษกรรมไม่ควรผูกขาดกับรัฐประหาร คนที่คิดล้มล้างการปกครอง หรือผูกขาดกับคนที่ต้องการบ่อนเซาะทำลายระบบประชาธิปไตยในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่แค่การให้พ้นผิดทางกฎหมาย เราต้องก้าวผ่านเรื่องการพ้นผิดทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว

แล้วคิดเรื่องนี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ และควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ด้วยการทำให้โปร่งใสในการเสาะหาข้อเท็จจริง จนนำไปสู่การแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ทั้งหมดนี้จะทำให้ความสมานฉันท์ปรองดองเกิดขึ้นได้จริง

ตนคิดว่าจะเป็นโอกาสที่สังคมไทยจะได้ก้าวเกินกว่าการนิรโทษกรรม ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองน้อยลงและมีประสิทธิภาพ มีสมาธิในการแก้ไขปัญหา การเมือง ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องการศึกษา

ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในช่วงความขัดแย้งของการเมืองไทย อย่างน้อยนับแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. ที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในสังคม ตั้งแต่สงครามสีเสื้อ การเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ปี 49-67 ได้สร้างความเสียหายมากมาย โดยเฉพาะเศรษกิจหลายแสนล้านบาท

ดังนั้น การนิรโทษกรรมในครั้งนี้ต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประหาร แต่ควรคิดถึงเหยื่อที่โดนทำรัฐประหาร รวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโบายของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหาร

“ไม่ใช่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมกับคนที่ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการเมือง ทวงคืนผืนป่า คนที่จะต้องติดคุกเพราะนโยบายของรัฐในช่วงรัฐประหาร 8 หมื่นกว่าคดี ประมงติดอยู่ 3 พันกว่าคดี ยังไม่รวมคดีอื่นๆ อีกมากมาย”

นายพิธา กล่าวว่า หากเราตั้งหลักกันได้ว่า เวลาที่จะนิรโทษกรรม กระบวนการที่จะทำไม่ใช่แค่ยุติกฎหมายทางอาญา แต่ต้องรวมถึงการเยียวยา การออกมารับผิดชอบทางสาธารณะ ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ใช่การนิรโทษของคนที่สั่งฆ่า แต่รวมถึงคนที่ถูกฆ่าด้วย

หากทำแบบนี้ตนคิดว่าจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะตั้งต้นให้ทั้ง 3 อธิปไตยของประเทศไทยในระบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยในทางบริหาร นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งตำรวจได้เลยว่าให้ชะลอคดีเพื่อรอกระบวนการในรัฐสภา ฝ่ายอัยการศาลต้องวินิจฉัยคดีด้วยความรอบคอบและจากฐานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้อารมณ์ในการตัดสิน

ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สามารถนำกฎหมายเข้าสภาและอธิบายความแตกต่าง รวมถึงข้อคิดเห็นของประชาชนที่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่จำเป็นต้องตีกรอบอยู่แต่กับผู้แทนราษฎร แต่ควรอยู่กับราษฎรด้วย ฉะนั้น 3 เสาหลักสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีและสมานฉันท์ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินต่อไปได้