"โฆษกอัยการ" แจงสาเหตุตีกลับสำนวนคดี เด็ก14 ก่อเหตุสลดในห้างดัง เพราะยังไม่สามารถสู้คดีได้

จากกรณีพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ส่งสำนวนให้อัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. โดยกล่าวหาว่าเด็กชายอายุ 14 ปี ผู้ก่อเหตุกราดยิงในห้างดังกลางเมือง ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่นๆ รวม5 ข้อหา แต่เมื่อรายงานของแพทย์ในการตรวจรักษาผู้ต้องหา ที่เป็นเด็กยืนยันว่ายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงต้องตีกลับสำสวนไปให้ทางพนักงานสอบสวน

ล่าสุด นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อคืนสำนวนไปแล้ว ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 14 เนื่องจากกระบวนการใดๆที่พนักงานสอบสวน ดำเนินการไปโดยไม่ยึดหลักกฎหมายดังกล่าวก็ต้อง ถือว่าเป็นกระบวนการสอบสวนที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ซึ่งคดีนี้เมื่อได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน นางศจีมาศ บัวรอด อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีและคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กยังมีอาการป่วยอยู่ และเป็นคนไข้ของสถาบันกัลยาราชนครินทร์มาโดยตลอด โดยมีใบรับรองประเมินผลการตรวจรักษา ยืนยันว่าผู้ต้องหายังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ เมื่อข้อเท็จจริงทางการแพทย์ยืนยันเช่นนี้ การพิจารณาของพนักงานอัยการไม่มีประเด็นอื่นนอกจากคืนสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวน รอกระบวนการบำบัดรักษาจากคุณหมอ ที่ประเมิน ตรวจผู้ต้องหาว่าอยู่ในภาวะปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ภายในอายุความ20 ปี

เมื่อการสอบสวนชอบด้วยกฎหมายและทำการสอบสวนเสร็จแล้วค่อยส่งสำนวนให้ พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายอีกครั้ง

จากการประสานกับคุณหมอทราบในเบื้องต้นว่าช่วงเดือนมกราคม ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการตรวจรักษาจะมีการประชุมเพื่อประเมินอาการของผู้ต้องหาอีกครั้ง แต่การควบคุมตัวตามกฎหมายจะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้าย ในวันที่ 31 ธ.ค. นี้

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า ทางคุณหมอและคณะกรรมการตรวจรักษาผู้ต้องหา จะมีการเดินทางไปพบผู้ปกครองของผู้ต้องหา และจะมีการแจ้งว่าเด็กยังมีอาการ ป่วยอยู่ทางทีมที่บำบัดรักษาจะขอรับตัวไปบำบัดรักษาต่อหากผู้ปกครองเข้าใจและอนุญาต ถ้าคุณหมอก็จะรับตัว ผู้ต้องหากลับไปเป็นคนไข้เพื่อรักษาต่อตามปกติ แต่สมมติว่าผู้ปกครองไม่ยอมและไม่อนุญาต หากทางคณะกรรมการของแพทย์ประเมินแล้วว่าจำเป็นจะต้องดูแล ผู้ต้องหาเพื่อป้องกันอันตราย สำหรับตัวผู้ต้องหาเอง และสังคมอาจจะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 บังคับ ที่จะเอาตัวผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อ ซึ่งระยะเวลาการควบคุมตัวของ แพทย์ผู้รักษา มีกรอบกฎหมายชัดเจนอยู่ในพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 จะมีการแจ้งผลการตรวจรักษาให้กับพนักงานสอบสวน ทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ต้องหาจะหายและสามารถต่อสู้คดีได้ เพราะเราไม่สามารถจะนำคนป่วยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ แต่ถ้าหายป่วยเเล้วก็ได้ไม่ต้องรอ 180 วัน ทีมแพทย์ที่รกษาสามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อดำเนินการสอบสวนได้ทันที

เตรียมทำหนังสืออายัดตัวเด็ก 14 รักษาตัวต่อจนกว่าจะต่อสู้คดีได้


ด้าน พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รอง ผบก.น.6 เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติม ว่าเด็กพร้อมจะต่อสู้คดีได้เมื่อไหร่ จึงจะเริ่มมีการสอบปากคำเพิ่มเติม และสรุปสำนวนส่งอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งกรณีดังกล่าว ก่อนหน้าที่พนักงานสอบสวนมีการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเด็กไปแล้วนั้น ทางแพทย์เจ้าของไข้ ได้มีการอนุญาตให้เข้าไปสอบปากคำเด็กได้ ทางทีมพนักงานสอบสวนจึงมีการเข้าไปสอบปากคำ โดยไม่ได้เข้าไปแบบพลการ หรือผิดขั้นตอนแต่อย่างใด ซึ่งมีหนังสือแจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 ว่าแพทย์อนุญาตให้ไปสอบปากคำเด็กได้ และในการสอบปากคำมีทั้งอัยการ 3 วิชาชีพและทนายความ ซึ่งเด็กสามารถตอบโต้ได้ทั้งหมด

พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ความเห็นแพทย์ก็จะไม่ขอก้าวล่วง แต่ตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ทางเด็กสามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยตามข้อเท็จจริงผู้ที่อนุญาตในการให้ทีมพนักงานสอบสวนเข้าไปสอบปากคำเด็กก็คือ แพทย์เจ้าของไข้ แต่นอกจากแพทย์แล้วก็จะมีทีมนักจิตวิทยามาร่วมประเมิน

ส่วนกรณีหากพนักงานสอบสวนยังสอบปากคำ และไม่ส่งสำนวนให้อัยการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 อาจจะต้องปล่อยตัวเด็กออกจากสถานที่รักษาตัว นั้น พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวว่า โดยเบื้องต้นในวันนี้ ได้ให้ทางพนักงานสอบสวนมีการร่างหนังสือถึงสถาบันกัลยาณ์ฯ ที่เด็กรักษาตัวอยู่ โดยอาศัยอำนาจตามศูนย์รักษาสุขภาพจิต เพื่อขอให้สถาบันกัลยาณ์ฯ รักษาเด็กต่อไปได้ และอาศัยอำนาจตาม ป. วิอาญามาตรา 14 และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 เนื่องจากเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทางพนักงานสอบสวนก็ขอให้ทางสถาบันกัลยาณ์ฯ รับตัวเด็กไว้จนกว่าอาการจะทุเลาหรือจนกว่าเด็กจะต่อสู้คดีได้ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่รองรับ

พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า การสอบปากคำเด็กมีการตอบคำถามกับทางพนักงานสอบสวนได้เป็นอย่างดี แต่หากเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี เด็กจะบอกว่า “จำไม่ได้”

"เบื้องต้นในวันที่ 11 ม.ค.2567 ทางทีมแพทย์ที่รักษาตัวเด็กจะมีการประชุมเพิ่มเติมอีกครั้ง ทำให้ทางพนักงานสอบสวนต้องรอแพทย์สรุปความเห็นเพิ่มเติม จากนั้นหากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ สรุปมาว่าเด็กสามารถต่อสู้คดีได้แล้วทางพนักงานสอบสวนจะเดินทางเข้าไปสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งต่อไป" พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ระบุ