ตำรวจไซเบอร์ บุกจับสาวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ปลอมเป็นตำรวจ "สภ.แหลมฉบัง" หลอกเหยื่อโอนเงินกว่า 3 แสน เจ้าตัวอ้าง ไม่รู้เรื่อง คาดอาจถูกสวมบัตรประชาชน

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ นำกำลังเจ้าจับกุม น.ส.สุพัตรา อายุ 22 ปี ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น,โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” โดยจับกุมได้ในพื้นที่หมู่ 10 ต.ดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 มีผู้เสียหายได้รับโทรศัพท์จากบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง แจ้งว่าผู้เสียหายมีชื่อเป็นผู้ส่งพัสดุไปยัง จ.เชียงราย โดยอ้างว่าข้างในพัสดุประกอบด้วยหนังสือเดินทางของชาวพม่า จำนวน 12 เล่ม, บัตรเอทีเอ็ม 9 ใบ, สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้เสียหาย จำนวน 3 เล่ม และสมุดบัญชีเงินฝากของผู้อื่นจำนวน 6 เล่ม ถูกอายัดไว้ที่ศุลกากรแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งผิดกฎหมายและจะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

โดยหลอกให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนในแอปฯ ไลน์ ชื่อ “สภ.แหลมฉบัง” อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ ร.ต.อ. ประจำ สภ.แหลมฉบัง จากนั้นได้ให้ผู้เสียหายพูดคุยวีดีโอคอลทางไลน์กับชายอีกคนที่อ้างว่าเป็น ผกก.สภ.แหลมฉบัง แล้วส่งรูปภาพถ่ายของชายวัยกลางคน ว่ามีคดีข้อหาคดีฟอกเงินและค้ายาเสพติด โดยคนร้ายอ้างว่าผู้เสียหายมีเงินหมุนเวียนอยู่ในบัญชี 3 บัญชี และแจ้งว่าเพื่อความบริสุทธิ์ใจ ให้โอนเงินในบัญชีทั้งหมดของผู้เสียมายังบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชี “น.ส.สุพัตรา” ทั้งหมดเพื่อตรวจสอบ และหลังจากทำการตรวจสอบเสร็จแล้วก็จะทำการโอนคืนให้แก่ผู้เสียหายต่อไป

เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้ดำเนินการโอนเงินไปยังหมายเลขบัญชีดังกล่าว เป็นจำนวนเงินกว่า 3 แสนบาท หลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อกับไลน์ชื่อว่า “สภ.แหลมฉบัง” ได้อีกเลย จึงคิดว่าถูกพวกมิจฉาชีพหลอก จึงได้เดินทางมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.4 ได้สืบสวนจนทราบว่า ผู้ต้องหามีหมายจับติดตัวทั้งหมด 3 หมาย ได้หลบหนีมาอยู่ที่บ้านเช่าในจังหวัดราชบุรี จึงได้เข้าไปตรวจสอบและจับกุม

เบื้องต้นผู้ต้องหา ให้การรับว่า ตนเองคือบุคคลตามหมายจับนี้จริง แต่ไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อปี 2565 แม่ของตนป่วยต้องการใช้ถังออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ มีคนรู้จักรับว่าจะช่วยเป็นธุระจัดหาถังออกซิเจนให้ แต่ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไปแสดงเป็นหลักฐานในการของยืมถังออกซิเจนจากโรงพยาบาล

เนื่องจากช่วงนั้นแม่ของตนเองป่วยหนัก ตนจึงตัดสินใจนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนและของแม่ เพื่อให้ช่วยดำเนินการ ซึ่งมีแค่เหตุการณ์เดียวที่ตนเองนำบัตรไปให้แก่บุคคลอื่น และก็ไม่เคยเปิดบัญชีธนาคารให้แก่ผู้อื่นเลย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ได้ทำการสืบสวนหาตัวผู้ร่วมกระทำความผิด ก่อนคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป