นายกเมืองพัทยา ชี้ ทุจริตโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ ของ อิทธิพล คุณปลื้ม เรื่องใหญ่ รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลพิเศษ ไล่เบี้ยการออกโฉนดมิชอบ หลัง ปปช. ชี้มูลที่ดินสร้างโครงการเป็นที่ดินสาธารณะ ขณะที่มีผู้เสียหายนับร้อยรายรอการเยียวยา

จากมติในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ชี้มูลความผิดให้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และพวก กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ. 1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ พัทยา (Waterfront Pattaya) หรือ วอเตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง กระทั่งต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ได้มีคำสั่งออกหมายจับ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ตามคำร้องของคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ยื่นเรื่องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 เพื่อขอออกหมายจับ



กระทั่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 มีรายงานว่า นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนขอประกันตัวออกไป โดยให้เหตุผลว่าที่ไม่ได้มาตามหมายในครั้งแรกเพราะป่วยป่วยเป็นโควิด-19 และต้องนอนพักรักษาตัวที่ประเทศกัมพูชากระทั่งเดินทางกลับมารายงานตัวดังกล่าว

สำหรับโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ฯ นั้น พบว่า เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2551 บริษัท บาลี ฮาย จำกัด ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อเมืองพัทยา เพื่อก่อสร้างอาคารถาวรชนิด ค.ส.ล. 53 ชั้น จำนวน 1 หลัง ขนาด 315 ห้อง ที่ความสูงประมาณ 180 เมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดพักอาศัย พื้นที่จำนวน 38,503 ตารางเมตร บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

ส่วนกรณีที่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยาและพวกได้พิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (แบบ อ.1) เลขที่ 700/2551 ลงวันที่ 10 กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ฯ เป็นการพิจารณาอนุญาตอย่างถูกต้องหลังทางโครงการได้ยื่นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณา ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์เอกสารการครอบครองที่ดิน แบบแปลนอาคาร รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และข้อมูลอื่น ๆ ประกอบร่วมเพื่อให้เมืองพัทยาตรวจสอบ โดยขณะนั้นยังไม่มีเรื่องของการพิจารณาหรือคำสั่งในเรื่องของที่ดินว่ามีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่แต่อย่างใด

ดังนั้นการพิจารณาออกใบอนุญาตจึงถือว่าเมืองพัทยาทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงการพิจารณาต่อใบอนุญาตครั้งแรกหลังผ่านพ้นเวลาตามกำหนดของกฎหมายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งมีเงื่อนไขของการพิจารณาว่าโครงการจะต้องมีความคืบหน้าการก่อสร้างไปในสัดส่วน 10% ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด



จากกรณีดังกล่าว ล่าสุด (11 ตุลาคม) นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เผยว่า สำหรับโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ พัทยา นั้น เป็นโครงการที่มีการอนุญาตและดำเนินการมานานนับสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อ ปปช. มีมติความเห็นว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินสาธารณะ จึงได้ส่งหนังสือมายังเมืองพัทยาให้ร่วมกับ อ.บางละมุง และสำนักงานที่ดินบางละมุง ร่วมกันพิจารณายืนยันตามความเป็นของ ปปช. หรือไม่ โดยทางเมืองพัทยาจึงได้ร่วมกันตรวจสอบกระทั่งต่อมาได้ส่งรายงานกลับไปยัง สำนักงาน ปปช. พร้อมระบุว่ามีมติเห็นชอบตามที่เสนอ โดยใช้หลักเกณฑการตรวจสอบจากแผนที่ทางอากาศที่พบว่าที่ดินพื้นที่ไม่มีสภาพการทำกินก่อนที่จะออกกฏหมายให้แจ้งสิทธิ์ครอบครองที่ดินทำกิน จึงเชื่อว่าเป็นที่ดินสาธารณะ และจากนี้ก็คงเป็นเรื่องของกรมที่ดินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายปรเมศวร์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อทาง ปปช. ชี้มูลว่าที่ดินแผลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งที่เคยทำไปแล้วหรือกำลังคิดจะทำก็ไม่สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางโครงการจะพยายามหาแนวทางเพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ โดยจะยอมหั่นความสูงลดลงไปถึง 8 ชั้น เพื่อให้พื้นที่ใช้สอบตรงกับกรอบที่ขออนุญาตตามระเบียบ แต่เมื่อเหตุการณ์มันเปลี่ยนไปทุกอย่างก็คงต้องหยุดชะงักไว้ก่อนเพื่อรอหนังสือจากกรมที่ดินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป



สุดท้ายหากที่ดินแปลงดังกล่าวสรุปว่าเป็นที่ดินสาธารณะจริง เรื่องนี้จะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศเพราะไม่เคยเกิดขึ้นว่าโฉนดที่ซื้อมาถูกต้องแต่ออกมาโดยมิชอบ แต่ถ้าเป็นเช่นกันจริงก็ต้องไปไล่เบี้ยกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเป็นทอด ๆ ไปจนไปถึงกรมที่ดิน ส่วนคนที่ซื้อคอนโดนไปก็ต้องรอว่าใครจะมาเยียวยาว คือเรื่องนี้คงต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลเข้ามาดูแลว่าจะต้องมีการออกฎหมายพิเศษหรือไม่

ทั้งนี้ ในฐานะนายกเมืองพัทยาต้องบอกเลยว่ารู้สึกหนักใจเป็นอย่างมาก จากการทำงานเป็นผู้บริหารท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน เพราะเราคงไม่สามารถออกไปดูอาคารหรือตรวจสอบใบอนุญาตได้ทั้งหมด ด้วยมีปริมาณงานมากจริง ๆ แต่มีหลายขั้นตอนกว่าจะมานำเสนอให้เซ็นต์ หรือมีการตรวจสอบที่เข้ม งวดก่อนนำมาเสนอให้เซ็นต์

อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้ออกหนังสือสั่งการออกไปแล้วว่าให้นายตรวจเขตหรือผู้ที่รับผิดชอบทั้งหมดต้องดูแลและพิจาณราอย่างรอบคอบ แต่จนถึงขณะนี้รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็คงต้องยอมรับว่าหนักใจ แต่ก็พยายามจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ถูกต้องเป็นธรรม เกิดประโยชน์ต่อสังคม และทำดีที่สุด