"ปกรณ์วุฒิ" โต้ "รทสช." ปมทวงเก้าอี้ประธานกรรมาธิการฯ จากก้าวไกล แนะควรรักษาคำพูด แบ่งกันเป็นประธานพรรคละ 2 ปี

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล - Pakornwut Udompipatskul" โดยได้ชี้แจงกรณีที่ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาให้ข่าวว่า พรรคก้าวไกล ควรคืนตำแหน่งประธาน กมธ. ให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คณะ ว่า

“ผมขอไล่เรียงข้อเท็จจริง ในการตกลงเรื่องจำนวน ประธานกรรมาธิการ ดังนี้

1. ในการประชุมตกลงเรื่องจำนวนประธานกรรมาธิการครั้งแรก ซึ่งเกิดก่อนวันเลือกตั้งซ่อมที่ระยอง และเมื่อนับ ณ ขณะนั้น พรรคก้าวไกลจะได้ประธาน 10 คณะ และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ 3 คณะ

ผมจึงได้ทักท้วงว่า การคำนวณสัดส่วนนั้น วางอยู่บนฐานของ สส. 499 คน ดังนั้น ควรจะสรุปตัวเลขนี้หลังจากเลือกตั้งซ่อมเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อให้ตัวเลขเป็นทางการ.. แต่ทาง รทสช. บอกว่า “ให้อยู่กับปัจจุบัน” และให้นับตัวเลข ณ วันที่มีการสรุปในห้องประชุม ไม่ใช่วันที่ตั้งกรรมาธิการ ..หมายความว่า ถ้าสรุปลงตัวทุกคณะ ณ วันนั้น “ต่อให้ก้าวไกลชนะเลือกตั้งซ่อม ทาง รทสช. ก็จะไม่คืนประธาน กมธ. คณะนี้ให้”

2. ต่อมา เมื่อเกิดปัญหาตกลงกันไม่ลงตัว ตามที่ทุกคนคงทราบเหตุการณ์กันดี .. เวลาจึงล่วงเลยมาจนถึงหลังการเลือกตั้งซ่อม และตัวเลขประธาน กมธ. ของก้าวไกลขยับขึ้นเป็น 11 คณะ ทางตัวแทนของ รทสช. ได้มาเจรจากับผมอย่างไม่เป็นทางการ ว่าตัวเลขทศนิยมมันต่างกันนิดเดียวเท่านั้น .. และยื่นข้อเสนอว่า ขอให้แบ่งประธานในคณะที่คาบเกี่ยวอยู่นี้ พรรคละ 2 ปี .. จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีกในอนาคต ซึ่งทางผมก็ได้นำข้อเสนอนี้มาปรึกษากับผู้บริหารพรรค .. และได้ตอบตกลงไปในภายหลัง อย่างไม่เป็นทางการ

3. จนถึง 1 วัน ก่อนการนัดประชุมสรุปประธานทุกคณะอย่างเป็นทางการ ทาง รทสช. มีความพยายามจะขอให้ฝ่ายกฎหมายของสภา ตีความว่า การคำนวณสัดส่วนประธานนั้น จะสามารถนับคุณพิธา ที่ถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้หรือไม่ หากไม่ได้ จำนวนประธานของก้าวไกลก็จะลดลงเหลือ 10 คณะ .. แต่ฝ่ายกฎหมายของสภา ได้ออกเอกสารว่า “เมื่อตีความตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับฯ แล้ว จำเป็นต้องนับคุณพิธา เนื่องจากยังมีสถานะเป็น สส.อยู่” .. จำนวนประธาน กมธ.ของทางพรรคก้าวไกล จึงเป็น 11 คณะ เช่นเดิม

4. เมื่อเข้าห้องประชุมสรุปเรื่องประธาน ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา .. ถึงแม้ว่า ณ วันนั้น ผมสามารถยืนยันตัวเลข 11 คณะ ตามตรรกะเดียวกับที่ทาง รทสช. เคยใช้ไว้ตามข้อ 1. …

แต่ผมเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ผมได้ตอบตกลงเรื่องการแบ่งคนละครึ่งไว้กับตัวแทนของ รทสช. ผมจึงตัดสินใจว่าเราควร “รักษาคำพูด” และได้แจ้งข้อตกลงอย่างเป็นทางการในห้องประชุมวันนั้น ว่าในคณะ “กรรมาธิการ ศาล องค์กรอิสระฯ” นั้น ทางก้าวไกล และ รทสช. จะแบ่งกันเป็นประธานพรรคละ 2 ปี โดยให้ทางก้าวไกลเป็นประธานก่อน เนื่องจาก ณ วันที่สรุปกันนั้น โควตาคณะนี้ เป็นของก้าวไกล ...

และข้อตกลงเพิ่มเติม คือ เพื่อความราบรื่นในการทำงาน หากการเปลี่ยนแปลงของจำนวน สส. ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่กระทบจำนวน ประธาน กมธ.หลายคณะ ก็ให้ยึดถือไปตามนี้ ไม่ต้องมาคำนวณกันใหม่ เนื่องจากจะมีความยุ่งยากหลายประการ


ตัวผมเองเข้าใจดี ว่าตัวแทนของแต่ละพรรค ก็ต้องพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของพรรคตนเอง ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

แต่ ณ จุดนี้ ผมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลขอยึดตามข้อตกลงที่ทุกฝ่ายได้รับทราบร่วมกันอย่างเป็นทางการแล้ว และยืนยันว่า สส. พรรคก้าวไกล ที่เป็นประธานคณะนี้ พร้อมที่จะลาออกทันทีเมื่อถึงเวลาที่กำหนดตามที่ตกลงกันไว้เพื่อหลีกทางให้ตัวแทนจาก รทสช. เป็นประธานต่อ

ดังนั้นผมจึงขอให้ รทสช. ยึดถือคำพูดที่ได้ให้ไว้แล้วเช่นกัน

ผมทราบดีว่า เมื่อตั้งกรรมาธิการแล้ว หากจะใช้วิธีการขอโหวตประธานในห้องประชุมกรรมาธิการ พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน ก็คงไม่มีเสียงเพียงพอที่จะทัดทานได้

แต่ผมขอ ให้กรรมาธิการ 15 ท่าน จากทุกพรรคการเมืองที่เข้าไปนั่งในคณะนี้ พิจารณาอีกครั้งว่า เมื่อได้เคยมีการให้คำมั่นสัญญาอย่างเป็นทางการแล้ว การขอโหวตเพื่อกลับคำมั่นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่

เพราะทุกท่านในฐานะ สส. คงทราบดีว่า .. ในการทำงานร่วมกันของกรรมาธิการนั้น ไม่ว่าแต่ละพรรคจะเห็นต่างกันอย่างไร ก็สามารถทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น

แต่การ “ไม่รักษาคำพูด” นั้น อาจทำให้ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้เลย”