กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้วิธีหลอกแบบใหม่ อ้างตัวเองเป็น ปปง. แล้วแจ้งผู้เสียหายว่าพัวพันกับยาเสพติด ให้น้องไปเช่าอยู่ที่อื่นเพื่อความปลอดภัย เมื่อน้องเปิดห้องที่พักแล้ว จะสั่งการควบคุมโดยวิดีโอคอลคุยกับน้องว่าให้น้องทำตามคำสั่ง ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี โดยคนร้ายอีกทีมติดต่อกับแม่ หลอกว่าน้องถูกจับเรียกค่าไถ่ โดยให้แม่โอนเงินมาเพื่อให้น้องปลอดภัยจำนวน 3 ล้านบาท

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ผบก.สส.บช.น.) เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุแก๊งคอลเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ในการรักพาตัวผู้เสียหายและมีการเรียกค่าไถ่จากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว พบพฤติกรรมที่เกิดขึ้นลักษณะคล้ายกันกับผู้เสียหาย 4 กรณี ซึ่ง 3 กรณีแรก เกิดขึ้นในพื้นที่ย่านพหลโยธินและปทุมธานี โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือหลังจากที่ถูกบันทึกคลิปมัดมือมัดเท้า บางคลิปถึงขั้นร้องไห้เพื่อที่จะเรียกความน่าสงสาร โดยกลุ่มของคนก่อเหตุจะมีการส่งไปให้กับคนในครอบครัวเพื่อที่จะเรียกค่าไถ่ แต่เป็นพฤติกรรมที่กลุ่มของผู้เสียหายถูกบังคับและข่มขู่ ทำนองว่าจะทำร้ายคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดหากไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้กลุ่มของผู้เสียหายต้องออกไปซื้อสก๊อตเทปหรือเชือกมาพันธนาการตัวเอง แล้วมีการอัดคลิป ซึ่งทุกคลิปจะสังเกตว่ามีเสียงของกลุ่มคนก่อเหตุมีการบรรยายและพูดแทรก เพราะเกิดจากกระบวนการใช้มือถือหรือ iPad ในการวิดีโอคอลแล้วโทรคุยกับผู้เสียหายตลอดเวลา บังคับให้อยู่ในสาย ไม่ให้มีการวางสาย แล้วให้ผู้เสียหายบันทึกคลิปเพื่อนำไปต่อรองในการเรียกเงินจากญาติหรือคนใกล้ชิด

 

แต่กรณีล่าสุดที่มีการเข้าช่วยเหลือแล้วสำเร็จ ชุดสืบนครบาลได้เข้าช่วยเหลือนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยได้รับแจ้งจากทางอาจารย์ว่า มีนักศึกษาขอออกจากห้องเรียนกลางคัน มีพฤติกรรมต้องสงสัย ประกอบกับได้รับข้อมูลจากผู้ปกครองซึ่งเป็นแม่ มีการแจ้งเรื่องเอาไว้ว่าลูกถูกลักพาตัว จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบความเคลื่อนไหว และสัญญาณมือถือ จนกระทั่งไปตรวจพบว่าอยู่โรงแรมไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย จึงได้เข้าไปช่วยเหลือ ปรากฏว่าทันทีที่ไปถึง ตัวของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ไม่ได้ถูกพันธนาการเหมือนเช่นกรณีอื่น แต่จะเห็นว่าบนโต๊ะมีลักษณะ iPad ที่คนก่อเหตุได้โทรและมอนิเตอร์คุยกับผู้เสียหายตลอดเวลา

จากการสอบปากคำผู้เสียหาย ทราบว่า ในช่วงเช้าวันเกิดเหตุ 11 ส.ค. ได้มีโทรศัพท์โทรเข้าไปหาผู้เสียหาย ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจพบกล่องพัสดุที่เป็นยาเสพติด แล้วจะต้องมีการเคลียร์คดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจหากไม่ใช่ของตัวเอง จนกระทั่งทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ก็เลยถูกบังคับให้ออกไปอยู่ที่หอพักหรือโรงแรมที่แยกออกมาจากผู้คน เพื่อที่จะดำเนินการเคลียร์คดี ในระหว่างนั้นกลุ่มคนก่อเหตุได้ให้ผู้เสียหายให้เบอร์ผู้ปกครอง เพื่อที่จะประสานให้เข้ามาเคลียร์ร่วมด้วย ตัวของผู้เสียหายหลงเชื่อจึงให้เบอร์ผู้ปกครองไป แต่ในทางกลับกันในฝั่งของผู้ปกครอง กลับถูกกลุ่มคนก่อเหตุเปลี่ยนประเด็นใหม่ โทรไปเรียกค่าไถ่อ้างว่าลูกถูกลักพาตัว โดยต้องนำเงินจำนวน 3 ล้านบาท มาจ่ายจึงจะได้ลูกคืน

ขณะที่ฝั่งของผู้เสียหาย ไม่รู้ว่าตัวของกลุ่มคนก่อเหตุใช้อุบายนี้ในการไปเรียกเงินจากฝั่งผู้ปกครอง แต่ก็เข้าใจว่า กำลังคุยอยู่กับตำรวจตัวจริงเพื่อที่จะรอเคลียร์คดี จึงยอมที่จะทำตาม ซึ่งกลุ่มคนก่อเหตุสั่งให้ไปเปิดโรงแรมไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย จากนั้นเตรียมที่จะมีการสั่งให้ผู้เสียหายไปซื้อสก๊อตเทปหรือเชือกเพื่อมามัดตัวเอง แล้วจะมีการถ่ายคลิปส่งไปให้กับผู้ปกครอง

ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.ฝากเตือนให้กับประชาชนและนักศึกษาระวังภัยมากยิ่งขึ้น อย่าหลงเชื่อ อย่าคิดว่าตำรวจจะใช้วิธีการหลอกให้ผู้เสียหายหรือประชาชนไปที่โรงแรมหรือหอพัก เพราะถ้าหากเป็นตำรวจตัวจริงก็ต้องมีการแสดงตัว หรือให้ไปในสถานที่ราชการเท่านั้น

ทั้งนี้ ตำรวจได้สืบทราบว่า กลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุอยู่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน

ทีมข่าวได้สอบถามรุ่นพี่ของผู้เสียหาย เผยว่า อาจารย์ในคณะได้มีการส่งข้อความภายในกลุ่มนักศึกษา ให้ระวังภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ เพราะเนื่องจากมีรุ่นน้องในคณะได้รับผลกระทบและตกเป็นผู้เสียหาย จึงทำให้นักศึกษาในคณะของตนเองรับรู้ว่ามีนักศึกษาในคณะได้รับความเสียหายแล้วกลายเป็นเหยื่อ โดยข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับข่าวและพฤติกรรมของกลุ่มคนก่อเหตุ จึงให้มีการระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษและไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีก

ส่วนตัวมาทราบภายหลังว่ามีรุ่นน้อง ตกเป็นเหยื่อ ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะถูกหลอก แต่ก็เข้าใจว่ารูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นรูปแบบใหม่ ที่บางทีอาจจะรับมือไม่ทัน แล้วก็คาดไม่ถึงว่าจะมีรุ่นน้องในคณะของตนเองกลายเป็นผู้เสียหาย

ผ่าแผนคอลเซ็นเตอร์อุ้มรีดค่าไถ่ 4 เหยื่อไอคิวเลิศ หลงกลมัดมือตัวเองตามคำสั่งจากเขมร