"สารวัตรเพียว" จี้รัฐบาลไล่บี้ตำรวจหาคนผิดช่วยคดี "เสี่ยเบนท์ลีย์" เชื่อไม่ได้มีแค่ระดับปฏิบัติที่รู้เห็นเป็นใจ อาจมีระดับผู้บัญชาการเอี่ยวด้วย

วันที่ 12 ม.ค.66 พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณี สุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ หรือที่ปรากฏตามหน้าสื่อในฐานะ "เสี่ยเบนท์ลีย์" ที่ก่อเหตุเมาแล้วขับจนชนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 8 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.66) พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหาเมาแล้วขับ จากการที่สุทัศน์ปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการทดสอบระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ณ จุดเกิดเหตุแล้วนั้น

ต่อมา พ.ต.ต.ชวลิต ระบุว่า สิ่งที่เป็นข้อกังวล คือการสื่อสารของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่พยายามทำให้สังคมเน้นจับตาไปที่ผลการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งตนเองขอยืนยันว่าผลตรวจนี้เชื่อถือไม่ได้ ไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่าผู้ต้องหาเมาแล้วขับ ณ เวลาที่เกิดเหตุหรือไม่ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญจริง ๆ ของคดีนี้อยู่ที่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาเปลี่ยนจากความผิดเมาสุราแล้วขับขี่ชนผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำและทั้งปรับ มาเป็นการขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ที่มีโทษจำคุกเบากว่า คือไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ต้องหาจะพยายามเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงแต่เป็นความโชคดีที่ในกรณีนี้มีหลักฐานเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน จึงไม่เป็นที่ถกเถียงว่าผู้ต้องหามีความผิดแน่ๆ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่มีความพยายามถ้าไม่ใช่จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ฝ่ายผู้ต้องหา ในการเปลี่ยนข้อเท็จจริงด้วยการยื้อเวลาให้มีปริมาณแอลกอฮอลล์ในเลือดลดลง

พ.ต.ต.ชวลิต ยังระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยต้องประสบปัญหาจากช่องว่างทางกฎหมาย ที่ผู้ต้องหาสามารถใช้สิทธิปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ แต่ปัจจุบันมีการปิดช่องว่างนี้แล้วด้วยการทำให้การปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์มีความผิด และยังให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานได้ทันทีว่าผู้ปฏิเสธการตรวจวัดนั้นเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นการให้อำนาจที่มากขึ้นแล้ว แต่อำนาจที่มากขึ้นก็ต้องมากับความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ผู้ต้องหาตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ณ เวลาที่เจอตัวผู้ต้องหาในทันที ก็ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง เพราะการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในทันทีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แอลกอฮอล์ต่างจากสารเสพติด ที่เมื่ออยู่ในร่างกายแล้วจะถูกเผาผลาญได้เร็วกว่าในอัตรา 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ดังนั้น ตามที่ปรากฏในหน้าข่าวว่ามีการยื้อเวลาไปนานถึง 3 ชั่วโมงก่อนที่จะนำตัวมาตรวจเลือดในภายหลัง ก็เท่ากับแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ต้องหาจะหายไปแล้วประมาณ 60 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ การตรวจเลือดในห้องแลปภายหลังจึงนำมาใช้ไม่ได้ เนื่องจากตัวแปรที่สำคัญคือการทอดเวลาได้เกิดขึ้นแล้ว

พ.ต.ต.ชวลิต ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า หากปรากฎชัดว่าเจ้าหน้าที่มีความพยายามอย่างมากแล้วในการให้ผู้ต้องหาตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ แต่ผู้ต้องหาบ่ายเบี่ยงไม่ยินยอม ก็จะเท่ากับผู้ต้องหาเป็นฝ่ายผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมายสันนิษฐานได้ทันทีว่าเมาแล้วขับ แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้การช่วยเหลือผู้ต้องหา ให้ไม่ต้องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในทันที ความผิดก็จะตกอยู่กับเจ้าหน้าที่

"ส่วนข้ออ้างเรื่องเจ็บหน้าอกนั้น ส่วนตัวตีความได้ว่าเป็นการบ่ายเบี่ยงของผู้ต้องหา แต่ก็ต้องไปดูในส่วนของเจ้าหน้าที่ ว่าได้มีความพยายามมากกว่านั้นแล้วหรือไม่ในการให้ผู้ต้องหาต้องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องที่ต้องไปดูในสำนวนอีกทีหนึ่ง"

พ.ต.ต.ชวลิต ยังกล่าวต่อไปว่า ขอเรียกร้องให้ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปจนถึงรัฐบาลในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตำรวจ กวดขันการดำเนินคดีให้มีความเป็นธรรม เพราะสิ่งที่ปรากฏอย่างชัดเจนแล้ว คือมีความพยายามในการทอดเวลาให้ระดับแอลกอฮอล์ในตัวผู้ต้องหาลดลงจริง ซึ่งคำถามสำคัญหลังจากนี้ คือความพยายามดังกล่าวนั้นมาจากตัวผู้ต้องหาเองเพียงลำพัง หรือว่าได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยหรือไม่ และหากมีการให้ความช่วยเหลือเกิดขึ้นจริง เรื่องนี้ต้องไม่ใช่การไล่บี้ไปที่เจ้าหน้าที่หน้างานเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องสาวไปให้ถึงบุคคลในระดับบังคับบัญชา ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ด้วย

"รัฐบาลคือผู้บังคับบัญชาโดยตรงขององค์กรตำรวจ ไม่ว่าตำรวจจะทำดีหรือไม่ดีอย่างไร รัฐบาลก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ หากคดีเดินไปเรื่อย ๆ ภายใต้ความพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหา จนเกิดความเสียหายในทางคดี รัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก อย่างไรเสียเรื่องนี้ก็ต้องมีคนผิด ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ต้องหาเอง หรือเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลย"