"วิษณุ" เผย "นายกฯ"ลงนามกฎหมายลูก 2 ฉบับแล้ว ขณะนี้รอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ย้ำ ส.ส. ลาออกไม่กระทบงานสภา แต่รัฐบาลไม่เสนอกฎหมายใหม่แล้ว บอกยังไม่มีสัญญาณยุบสภา

วันที่ 16 ธ.ค. 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงถึงความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า วันเดียวกัน (16 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในวันที่ 16 ธ.ค. หรืออย่างช้าวันที่ 17 ธ.ค. ตามขั้นตอนเมื่อมีการทูลเกล้าฯไปแล้วจะอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัย 90 วัน เมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป ถือว่ากติกาสำหรับการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว อย่างไรก็ตาม หากใครจะคัดค้านจะต้องดำเนินการหลังจากมีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนกระบวนการนั้นจะต้องไปร้องศาลและให้ศาลส่งต่อมายังศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ ส.ส.ลาออกจำนวนมาก ทำให้มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านายกฯจะถือโอกาสยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า เดิม ส.ส.มี 500 คน ขณะนี้เหลือ 400 กว่าคน องค์ประชุมลดตามลงมา ประมาณ 220 คน ฉะนั้น การดำเนินงานของสภายังดำเนินการได้ตามปกติ เหมือนที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯว่าไว้ ยังประชุมได้ ยังทำภารกิจได้ และยังมีเวลาเหลือ 2 เดือนกว่า หลังจากนี้รัฐบาลคงไม่เสนอกฎหมายใหม่เข้าไป ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายที่ค้างสภาอยู่ 3 ประเภท คือ 1.กฎหมายที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วและเสนอกลับมาให้สภาพิจารณา 2.กฎหมายที่รัฐบาล ส.ส. และประชาชนเสนอเข้าไปแต่ยังไม่ได้พิจารณาในวาระ 1 และ3.เรื่องที่อยู่ระหว่างการศึกษาของ กมธ. เมื่อถามย้ำว่า ที่ ส.ส.ลาออกจำนวนมากเช่นนี้เป็นเงื่อนไขให้เกิดการยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวสั้นๆ ว่า ขณะนี้ยัง

เมื่อถามว่า การที่นายกฯจะยุบสภาต้องแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลทราบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยยุบสภา เพราะเป็นอำนาจนายกฯ แต่ในฐานะที่ร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภามาแล้ว 3-4 ครั้ง นายกฯจะไม่นำเรื่องดังกล่าวปรึกษาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่างจากพระราชกฤษฎีกาทั่วไปที่ต้องผ่าน ครม. แต่พระราชกฤษฎีกายุบสภาเป็นฉบับเดียวที่ไม่เคยมีนายกฯคนใดนำมาปรึกษาในที่ประชุม ครม. แต่การจะบอกบางคน เช่น แกนนำพรรคมีความเป็นไปได้ เมื่อถามอีกว่า ได้สัญญาณการยุบสภามาจากนายกฯบ้างหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเตรียมอุปกรณ์ที่จะร่างมา 2 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ประเมินอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดทางการเมือง และขอยืนยันยังไม่เคยได้ยินนายกฯหรือรัฐมนตรีคนใดบอกว่าให้ยุบสภา

เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ระบุว่าหากนายกฯยุบสภา เงื่อนไขกฎเหล็ก 180 วัน ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นโมฆะไปเลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มันไม่ได้เซ็ตซีโร่เพราะยุบสภา แต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเลือกตั้งฉบับใหม่ที่บางส่วนต่างจากฉบับเก่า ดังนั้น อะไรที่ผิดอาจจะไม่ผิด แต่การยุบสภาไม่ได้ส่งผลอะไรต่อเรื่องดังกล่าว เพราะการกระทำผิดทางกฎหมายคือเรื่องของกฎหมาย แต่การยุบสภาเป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง