ปชป. จัดเสวนาตั้งคำถามดูบอลโลกในไทยทำไมเป็นแบบนี้ "มาดามเดียร์" ซัด "กสทช." ตั้งกฎเหล็กบีบทีวี ต้นเหตุหืดขึ้นคอซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดครั้งนี้ ชี้ไม่เหมาะสมเอาเงินภาษีประชาชน ไปให้องค์แสวงหาผลกำไรต่างชาติ จี้ ผู้เกี่ยวข้องทบทวนปลดล็อคกฎ ขณะที่"อดีตผู้บริหาร อสมท." แนะ ดีลซื้อลิขสิทธิ์เนิ่นๆ เพื่อจะไม่ต้องซื้อแพงขนาดนี้

พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนาพิเศษ "ดูบอลโลกในไทย ทำไมเป็นแบบนี้" เพื่อหาสาเหตุของความวุ่นวายในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

 

โดย นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กฎหมายสุขภาพ และจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดในการจัดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก เพราะโดยอำนาจหน้าที่ของ กกท. จะมีอำนาจในการส่งเสริมเรื่องการกีฬา และติดต่อการขอความร่วมมือกับองค์กรกีฬา และสมาคมกีฬา ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จะมีอำนาจเรื่องการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ กิจการวิทยุ และกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ควรมีบทบาทเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ซึ่งในหลายประเทศภาคเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นเอกชนที่ซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนประเทศไทย ที่ภาคเอกชนไม่สนใจซื้อลิขสิทธ์บอลโลกครั้งนี้ ซึ่งอาจจะด้วยหลายปัจจัยโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้หน้าที่ตกเป็นของ กกท. ที่มีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีงบประมาณอุดหนุนค่อนข้างมาก รัฐบาลจึงควรโยกเงินจากกองทุนฯมาซื้อลิขสิทธิ์แทน ไม่ใช่เอาเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. มาซื้อ เพราะมันผิดวัตถุประสงค์

 

แต่ น.ส.วทันยา บุนนาค อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มองว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุน กทปส. และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก แต่เราควรให้ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการโทรทัศน์ นำเงินมารวมกันซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก และหารายได้จากสปอนเซอร์เข้ามาอุดหนุน

ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีปัญหาในการดูบอลโลก จนกระทั่ง กสทช.ออกกฎ Must Carry บังคับให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง และยังมีกฎ Must Have ที่กำหนดให้รายการโทรทัศน์แบบถ่ายทอดสดบางรายการ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีรายการกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรีผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องฟรีทีวี ประกอบด้วย ซีเกมส์ อาเซียนพาราเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ เอเชี่ยนพาราเกมส์ โอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ธุรกิจทีวีไม่ลงทุนกับการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เพราะสุดท้ายต้องยอมให้กับช่องที่ไม่ได้ควักเงินจ่าย ได้ถ่ายทอดด้วย

 

"FIFA เป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไร ดังนั้น สิ่งที่เดียร์มองว่ามันตลกมากๆ วันนี้กลไกตลาดมันกำลังบิดเบือน ที่เราต้องเอาเงินจากภาษีประชาชน เม็ดเงินที่เป็นรายได้จากสาธารณสมบัติของชาติไปใช้กับองค์กรที่เขาแสวงหาผลประโยชน์ แสวงหากำไรที่เป็นของต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดมันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีกฎ Must Have กับ Must Carry แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่ากฎที่ออกมาแล้วช่วงนั้นที่อาจจะขาดการไตร่ตรองในแง่ของผลกระทบที่เพียงพอ มันก็เลยกลายเป็นว่าผลที่ออกกฎในวันนั้น มันเหมือนงูที่เขวี้ยงไม่พ้นคอ สุดท้ายแล้วก็ กสทช.ไปบิดเบือนกลไกตลาด คนที่ไปประมูลลิขสิทธิ์ แล้วจะต้องนำลิขสิทธิ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับทุกๆคน หมายถึงว่ามาแจกจ่ายให้กับช่องอื่นๆที่ไม่ได้ไปประมูลลิขสิทธิ์ด้วย เพราะฉะนั้นเวลามันเป็นแบบนี้ มันเลยกลับมาอยู่ในจุดที่ว่า ถ้าเดียร์เป็นช่องอะไรก็แล้วแต่ ก็คงจะเกิดคำถามว่าแล้วทำไมฉันต้องไปประมูลลิขสิทธิ์"

 

ด้านนายเขมทัต กล่าวว่า เราต้องพิจารณากฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดขัดในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ซึ่งการเซ็นสัญญาในการซื้อลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับกีฬามีมูลค่าสูงมาก เช่น ฟุตบอลโลกในแต่ละครั้ง มูลค่าการซื้อลิขสิทธิ์จะขึ้นอยู่กับว่าแข่งในทวีปไหน ถ้าเป็นช่วงเวลาที่คนเอเชียดูเยอะค่าลิขสิทธิ์ก็จะสูง

 

ขณะที่การเตรียมการของประเทศไทยก็บิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้นทาง เรามักจะซื้อลิขสิทธิ์ในเวลาอันใกล้การแข่งขัน ทั้งที่กลไกตลาดมันบอกว่า คอนเทนต์ที่มีราคาสูงย่อมต้องเจรจาต้องแต่แรก ไม่ใช่มาเจรจาอีกไม่กี่วันจะเริ่มเตะ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการแก้ กฎ Must Carry และ Must Have ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ก่อนที่จะมีฟุตบอลโลกจะมีอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อเวลาที่เหลืออีก 3 ปี จะได้ตกลงพูดคุยเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด