ญาติไม่พอใจ รพ.บริการล่าช้าปล่อยรอหลาย ชม.แถมพูดประชดคนไข้ ด้าน สสจ.ตรวจสอบ พร้อมจี้ปรับปรุง

(8ต.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้ใช้เฟสบุ๊กคนหนึ่ง โพสต์ข้อความในลักษณะไม่พอใจกับการให้บริการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยระบุว่า "พาหลานมาหาหมอตั้งแต่ 6 โมงเช้า อาการหลานหนาวสั่น บอกนานไม่ไหวแล้ว มาถึงไม่มีหมอสักคน เห็นแค่คนเข็นเปล เลยถามพี่คะ หมอมากี่โมงคะ เขาก็ตอบมา 8-9โมงครับ เขาถามน้องเป็นมากี่วัน เราตอบ 3 วันคะ เขาเลยตอบกลับมาว่าทนมา 3 วันแล้ว งั้นก็ทนต่อไป 3 วันแล้วยังทนได้ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ตอบมาได้ไง เราเลยหันมาบอกหลาน งั้นเอ็งก็ตายก่อนแล้วกัน หมอมาค่อยตื่นหาหมอ นานเรารอได้นะ ไม่ว่า แต่คำพูดที่ได้ยินมามันไม่น่าฟัง ป่านนี้ก็ยังไม่กลับ บัตรคิวที่1นะ แจ๋วมาก"

หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก หลายคนบอกว่าเคยโดนแบบนี้เหมือนกัน จนบางคนต้องเปลี่ยนไปรักษาที่ รพ.อื่น แม้จะเดินทางไกลกว่า

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสอบถามรายละเอียดกับผู้โพสต์ คือ น.ส.จรรยา (ก้อย) อายุ 34 ปี พร้อมกับหลานชายและหลานสาว ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไปรับบริการในวันดังกล่าว โดย น.ส.ก้อย บอกว่า เรื่องราวที่ตนเองโพส์ตเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (7ต.ค.65) ซึ่งตนเองได้พาหลาน 2 คน คือนายเติ้ล (นามสมมติ) อายุ 17 ปี มีอาการไข้สูงหนาวสั่นและมีหนองในหู และ น.ส.น้ำ (นามสมมติ) อายุ 15 ปี หลานสาว เป็นไข้น้ำมูกไหลไอเจ็บคอ ไปหาหมอที่ รพ. ไปถึง รพ.ประมาณ 6 โมงเช้า แต่ไม่มีหมอสักคน มีแค่พนักงานเปลผู้ชาย 1 คน ตนจึงเดินไปถามว่าหมอจะมากี่โมง เขาก็ตอบว่ามา 8-9 โมง แล้วเขาก็ถามว่าน้องเป็นอะไร เป็นมากี่วันแล้วตนก็ตอบไปว่า 3 วันแล้ว พนักงานเปลคนดังกล่าวกลับพูดว่าเป็นมา 3 วันแล้วยังทนไหวก็ทนต่ออีกคงไม่เป็นไร ตนก็รู้สึกไม่พอใจกับคำพูดของ จนท.คนดังกล่าว เพราะตอนนั้นหลานชายก็บอกว่าผมทนไม่ไหวถึงกับนอนฟุบกับเก้าอี้

จากนั้นก็รอจนถึง 10.00 น. ถึงได้คิวเข้าตรวจทั้งที่หลานเป็นคิวแรก พอตรวจเสร็จ หมอให้นั่งรอรับยาต่อจนถึงเที่ยง แล้วที่นำเรื่องราวมาโพสต์เพราะอยากให้ปรับปรุงแก้ไขการบริการ มองว่า รพ.ควรจะมีหมอเข้าเวรประจำเผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรเกิดขึ้น และ จนท.ไม่ควรใช้คำพูดประชดหรือตะคอกใส่คนไข้ที่เขาเจ็บป่วยแล้วหวังมาเพิ่งหมอ

ด้านนายแพทย์พิเชษฐ พืชขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจ.บุรีรัมย์ ระบุว่า ได้สั่งการให้ ผอ.รพ.ดังกล่าว ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหาว่าปัญหาเกิดจากอะไร เมื่อทราบแล้วก็ให้ปรับปรุงแก้ไขภายในองค์กร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก จากนั้นให้สรุปผลรายงานมายังทางสาธารณสุขจังหวัดได้รับทราบต่อไป