"นายกฯ" ห่วงใยผู้ติดเชื้อโควิด-19 วอนประชาชนร่วมมือ หลังเดินทางกลับจากท่องเที่ยวข้ามจังหวัดหรือไปพื้นที่เสี่ยงช่วงหยุดยาว ขอให้เฝ้าสังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด หากพบอาการน่าสงสัยให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงาน

 

วันที่ 17 ก.ค. 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย อาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขอความร่วมมือประชาชนหลังเดินทางกลับจากการไปท่องเที่ยวและทำบุญตามสถานที่ต่าง ๆ หรือเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงวันหยุดยาว ปฏิบัติตนตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข สังเกตอาการตนเองอย่างใกล้ชิด หากพบอาการสงสัยน่าจะติดเชื้อ เช่น ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ขอให้ตรวจ ATK ก่อนกลับเข้าทำงาน หากเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ขอให้กักตัวเองอยู่ที่พัก หลีกเลี่ยงการพบปะรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หากมีความจำเป็นจริง ๆ ต้องออกจากบ้าน เช่น การเดินทางไปโรงพยาบาลขอให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า หนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีที่สุด คือ ทุกคนต้องช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อและรับเชื้อ เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงและไม่เกิดเป็นระลอกใหญ่ขึ้นมาอีก

“หากตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการไม่มากหรือกลุ่มสีเขียวให้เข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการประจําตามสิทธิ์ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" โดยให้กักตัว 5 วัน แบบ Home Isolation และอีก 5 วัน ให้สังเกตอาการ ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเมื่อออกจากบ้าน และเมื่อกลับเข้าทำงาน สำหรับผู้เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ให้แจ้งหัวหน้างาน และปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานที่กำหนดไว้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวในโรงพยาบาล) จำนวน 2,028 ราย โดยเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,028 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,335,594 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ขณะที่หายป่วยกลับบ้าน 2,578 ราย รวมหายป่วยสะสม 2,336,240 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 23,299 ราย และเสียชีวิต 18 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 785 ราย

ส่วนภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 - 15 ก.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น 140,674,938 โด (รวมยอดสะสมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่กลุ่มเด็กอายุ 5 - 11 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 15 ก.ค. 2565 จำนวน 5,361,510 โด) จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 57,057,622 โด วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 53,329,863 โด และวัคซีนเข็มที่ 3 (ขึ้นไป) จำนวน 30,287,453 โด