"ชัชชาติ" ประชุมแก้ไข PM2.5 ชี้เป็นคำสั่งประชาชน เล็งใช้ Hard Power-Soft Power คุมเข้มกฎหมาย-ดึง ปชช.มีส่วนร่วม

 

วันที่ 21 มิ.ย.65 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับมูลนิธิส่งเสริมออกแบบอนาคตประเทศไทย เรื่องโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ว่าเรื่อง PM2.5 เป็นเรื่องสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งหาเสียง PM2.5 คล้ายกับเป็นเรื่องที่ประชาชนสั่งให้ทำ มูลนิธิส่งเสริมออกแบบอนาคตประเทศไทย ที่ได้รับการส่งเสริมจาก สสส.เพื่อจัดเวิร์กช็อปเรื่อง PM2.5 และนโยบายของเราก็มีหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว นโยบายของเรามี 4 ด้าน คือ

  1. กำจัดต้นตอ PM2.5 ผ่านโครงการนักสืบฝุ่น ซึ่งจะร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ต้นตอฝุ่นในกรุงเทพฯ ทำให้มีข้อมูลในระยะยาว และทำงานเชิงรุก เช่น กำจัดต้นตอจากรถยนต์ที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงดีเซลที่เผาไหม้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือเปลี่ยนรถยนต์ระบบสันดาปเป็นรถระบบไฟฟ้า รวมถึงไปดูต้นตอโรงงานปล่อยควันพิษ
  2. จัด Low-emission zone สนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะ และปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น
  3. แจกอุปกรณ์ป้องกันช่วยบรรเทาฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัยและเครื่องกรองอากาศให้กับกลุ่มเปราะบาง และทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข
  4. คาดการณ์และแจ้งเหตุจากกลุ่มเครือข่าย อาจจะร่วมกับหน่วยงานเอกชน หรือมหาวิทยาลัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นขั้นต่ำ 1,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ

"ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหา PM2.5 มี 2 องค์ประกอบ 1.Hard Power กฎหมายต้องเข้มข้น 2.Soft Power เปิดข้อมูลว่าที่ไหนก่อฝุ่น PM2.5 เท่าไหร่บ้าง และใช้พลังประชาชน มีส่วนร่วมในการบังคับให้ลดการปล่อย PM2.5 อาจเป็นมาตรการทางการตลาดหรือมาตรการทางสังคม ซึ่งจะมีผลไม่น้อยไปกว่าการบังคับใช้กฎหมาย" นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ปัญหา PM2.5 มีประเด็นหลักๆ ได้แก่ การขาดข้อมูลที่แท้จริง และไม่ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลวิจัยล่าสุดอยู่ที่ปี พ.ศ.2554 และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และ กทม. ซึ่งจะต้องมีเจ้าภาพในการร่วมมือกันเพื่อบังคับใช้กฎหมาย

ขณะที่ฝุ่นมีลักษณะเป็นฤดูกาล การแก้ไขปัญหาจึงเป็นการแก้ไขระยะสั้น แต่มีผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาวหรือตลอดชีวิต จึงต้องวางแผนอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายในการลด PM 2.5 ให้ลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันยังขาดงานวิจัย ทำให้ไม่สามารถดูปริมาณฝุ่นว่าลดลงมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะนำเกณฑ์มาตรฐานมาเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม ไม่กล้าสัญญาว่าปริมาณจะลดลงเท่าใด แต่จะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

"ผมว่ามันเป็นคำสั่งจากประชาชน จะเห็นว่าเรามีนโยบายที่ชัดเจนตอนหาเสียง ประชาชนเลือกมาก็มีนโยบายที่จะทำต่อและเป็นนโยบายระยะยาวและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหา" นายชัชชาติกล่าว และว่า กทม.มีเป้าหมายในการลด PM2.5 ในกรุงเทพฯ คงต้องทำให้ลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่ยังขาดงานวิจัย ทำให้เราดูไม่ออกว่าฝุ่นลดลงมากน้อยแค่ไหน นำเกณฑ์มาตรฐานมาเปรียบเทียบก่อน

"ไม่กล้าสัญญาว่าปริมาณจะลดลงเท่าไหร่ แต่จะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น" นายชัชชาติกล่าว และว่า ส่วนการปรับเกณฑ์ PM2.5 ไม่สำคัญเท่าตัวเลขที่เราวัดได้จริงๆ มาตรฐานเป็นแค่ความสบายใจ