ทูตสหภาพยุโรป-เนเธอร์แลนด์ เข้าเยี่ยมคารวะ "ประวิตร" ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ย้ำกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในทุกมิติ

วันที่ 19 พ.ค.2565 - เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเดวิด เดลี (Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปได้แสดงความยินดีต่อพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย–สหภาพยุโรปที่คืบหน้าตามลำดับ โดยฝ่ายไทยได้ยืนยันความพร้อมที่จะเดินหน้าความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปต่อไป บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม ความเข้าใจและการเคารพซึ่งกันและ พร้อมทั้งยินดีทำให้หุ้นส่วนระหว่างกันแข็งแกร่งและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และในด้านความมั่นคง เช่น การรับมือกับ ภัยคุกคามทางไซเบอร์และแบบผสม เป็นต้น

ต่อมา เวลา 11.00 น. นายแร็มโก โยธันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E Mr. Remco Johannes van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยได้หยิบยกประเด็นพูดคุยเรื่องความร่วมมือทวิภาคีไทย–เนเธอร์แลนด์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมการเดินเรือ และเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ รวมถึงพัฒนาการในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและยุโรป โดยฝ่ายไทยได้แสดงความยินดีที่เนเธอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากยิ่งขึ้นต่อไป

ในการนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เน้นย้ำกรณีไทยกับสหภาพยุโรปยังคงร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อต่อต้านการประมง IUU โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับทุกข้อแนะนำจากสหภาพยุโรป โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายจะไม่ปรับแก้กฎหมายประมงที่จะลดประสิทธิภาพในการต่อต้านการประมง IUU ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ตนในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมเพื่อยกระดับและบูรณาการการทำงานของหน่วยงานไทยตามข้อเสนอแนะของสหภาพยุโรปแล้ว

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมในการขยายความร่วมมือในกรอบไทย ยุโรป และอาเซียน
โดยเนเธอร์แลนด์ชื่นชมบทบาทของไทยในภูมิภาค และบทบาทของอาเซียนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทย ยินดีเป็นหุ้นส่วนกับสหภาพยุโรปในการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ เพื่อความร่วมมือ ในอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ทะเลและการทำประมงยั่งยืน การรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และหวังว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์ต่อกันต่อไป