ตร.ย้ำ แนวทางการใช้กัญชา กัญชง กระท่อม ชี้บางส่วนยังผิดกฎหมาย เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่าให้นำมาใช้ อาจมีผลต่อจิตประสาทได้

 

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญกฎหมายใหม่ เกี่ยวกับกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยระบุว่า กัญชา กัญชง และกระท่อม ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของรัฐบาล แต่การใช้ประโยชน์จากพืชทั้งสามชนิดนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการ เพื่อประโยชน์กับประชาชนผู้บริโภคที่จะนำไปใช้ได้แต่ด้านที่เกิดประโยชน์ของพืชแต่ละชนิด

ปัจจุบันกัญชา กัญชง ยังคงถูกควบคุมเป็นยาเสพติดอยู่ โดยในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศที่ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยแยกกัญชงออกจากกัญชา เพื่อลดระดับการควบคุมพืชทั้งสองชนิด ให้สามารถนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ได้ ตามประกาศนี้ สิ่งที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีเพียงช่อดอกของกัญชงและกัญชา และเมล็ดกัญชา ส่วนเมล็ดกัญชง ใบจริง กิ่งก้าน ราก เปลือก ลำต้น เส้นใย กากจากการสกัดไม่ถือเป็นยาเสพติด สารสกัด CBD หรือน้ำมันกัญชา ที่มีค่า THC ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติดเช่นกัน

แต่เงื่อนไขสำคัญที่พืชกัญชาและกัญชง จะไม่ถือว่าส่วนต่าง ๆ เป็นยาเสพติดนั้น ต้องได้รับอนุญาตให้ปลูกอย่างถูกต้องในประเทศ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ฉะนั้นการจะใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาจากพืชทั้งสองชนิดได้ ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอนุญาตให้ผลิตขึ้นมาอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่นใบกัญชา กิ่งก้าน เส้นใย สามารถตรวจดูจากสำเนาใบอนุญาต ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย น้ำมันกัญชาตรวจดูเครื่องหมายทะเบียนยาของกระทรวงสาธารณสุข โดยผลิตภัณฑ์ทางยา ผู้บริโภคจะต้องมีใบรับรองของแพทย์ให้ใช้เพื่อรักษาโรคเท่านั้น ขณะที่ การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หรือยาที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชงจากต่างประเทศ ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งหมด ส่วนการปลูกกัญชาบ้าน บ้านละ 6 ต้น เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

 

 

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับพืชกระท่อม ถูกยกเลิกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา สามารถใช้ด้วยการเคี้ยวใบ การต้มทำน้ำกระท่อมหรือชากระท่อมดื่มได้ตามวิถีท้องถิ่น แต่ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 424/2564 ยังห้ามใช้กระท่อมเป็นส่วนผสมของอาหาร จึงยังไม่สามารถนำมาประกอบอาหาร หรือต้มน้ำกระท่อมขายในเชิงอุตสาหกรรมได้ เพราะยังเป็นความผิดตามกฎหมายอาหารและยาอยู่ ส่วนร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564 มีแนวทางการควบคุมที่สำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม แต่ยังไม่ออกมาใช้บังคับ ช่วงนี้จึงขอให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง ช่วยดูแลตักเตือนอย่าให้เด็กและเยาวชนใช้พืชกระท่อม หรือน้ำกระท่อม เพราะอาจมีผลต่อจิตประสาทได้ จนกว่าจะมีกฎหมายเฉพาะออกมาใช้บังคับ ซึ่งคงจะออกมาในอีกไม่นานนี้