เปิดข้อมูลเปรียบเทียบจุดเด่นจัดหาวัคซีนรวดเร็วของ 7 ประเทศ ภาคเอกชนมีส่วนร่วม 

 

การจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่คนไทย โดยปัจจุบันให้บริการฉีดวัคซีนสะสม 16.4 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 12.7 ล้านโดส เข็มที่ 2 สะสม 3.7 ล้านโดส จากเป้าหมายต้องฉีดให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร หรือราว 50 ล้านคน

มีการตั้งคำถามถึงการจัดการหาวัคซีนในประเทศไทยที่ล่าช้า ซึ่งทีมข่าวออนไลน์ช่อง 8 ตรวจสอบพบข้อมูลสำคัญ จากทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำโดย ดร.สมชัย จิตสุชน ซึ่งมีการรวบรวมเปรียบเทียบประเด็นการจัดหาวัคซีนของ 7 ประเทศในโลก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บราซิล อิสราเอล และไทย

ที่น่าสนใจ คือ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดหาวัคซีน พบว่า ฟิลิปปินส์ อนุญาตให้บริษัทเอกชนทั่วไปสามารถนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้แก่พนักงานและครอบครัวได้ แต่ต้องสอดคล้องกับ Priority list ของรัฐ เหมือนกับบราซิลอนุญาตให้บริษัทเอกชนทั่วไป สามารถนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานได้ แต่ต้องสอดคล้องกับ priority list ของรัฐ เช่นกัน

ขณะที่ สิงคโปร์ Special Access Route ให้เอกชนจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลไม่ได้รับรอง หรือซื้อวัคซีน Sinovac ต่อจากภาครัฐได้ มาเลเซีย ซื้อวัคซีนได้ แต่ต้องไม่เป็นวัคซีนหลักที่รัฐใช้ ยกเว้น Sinovac ที่ซื้อต่อจากรัฐวิสาหกิจได้ และอินโดนีเซีย มีโครงการ VGR ให้ซื้อต่อจากที่รัฐวิสาหกิจซื้อมาได้ แต่ต้องไม่ใช่วัคซีนหลักที่รัฐใช้

ด้านไทยอนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนผ่านองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น ส่วนอิสราเอลไม่มีนโยบายเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ใน 7 ประเทศ ที่หยิบยกตัวอย่างมา มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่มีโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย คือ Pharmaniaga (Fill and Finish: Sinovac) อินโดนีเซีย คือ PT Bio Farma (Fill and Finish: Sinovac) บราซิล คือ 1.สถาบันวิจัยของรัฐ Butantan ร่วมมือ กับ Sinovac Biotech  2. สถาบันวิจัยของรัฐ Fiocruz  ร่วมมือ กับOxford/AstraZeneca และไทย คือ Siam Bioscience

สุดท้าย ประเด็นที่สังคมกำลังติดตามอยากทราบมากที่สุด คงหนีไม่พ้น จุดเด่นอะไรที่ทำให้แต่ละประเทศจัดหาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

เริ่มต้นจาก ฟิลิปปินส์ให้เอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตวัคซีนได้ตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยยังคงต้องกระจายวัคซีนตากรอบที่รัฐกำหนด และกระทรวงต่างประเทศช่วยสนับสนุนการเจรจากับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การนานาชาติ และบริษัทผู้ผลิตวัคซีน

สิงคโปร์มีการวางแผนจัดหาวัคซีนเร็วตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2563 โดยยินดีที่จะซื้อวัคซีนในราคาสูง และยอมรับความเสี่ยงได้ รวมถึงเอกชนมีบทบาทในการคัดเลือก และจัดหาวัคซีน สามารถนำเข้าวัคซีนที่ไม่ได้ถูกรับรองโดย HSA ได้

มาเลเซียตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนเร็ว (21/4/63) โดยติดตามและพูดคุยกับผู้ผลิตวัคซีนเร็ว (คุย 8 เจ้าตั้งแต่ 24/10/63) โดยที่หัวหน้างานจัดหาวัคซีนไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความคล่องตัวกว่า ขณะที่อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ทำ Clinical Trial phase สำหรับ Sinovac เลยได้ Sinovac เร็ว ใช้ช่องทางทางการทูต โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา

ส่วนบราซิล เป็นประเทศเจรจาจัดซื้อวัคซีนได้เร็วและมีความหลากหลายมีหน่วยงานรัฐและสาธารณสุขที่กระจายกันเจรจาจัดซื้อวัคซีนมีความยืดหยุ่นทางกฎหมาย มีแผนงานและข้อกฎหมายที่สามารถรองรับมาตรการฉีดวัคซีนอยู่ก่อนแล้ว ไม่ต่างอะไรกับอิสราเอล มีการวางแผนจัดหาวัคซีนเร็วเช่นกัน โดยยินดีที่จะซื้อวัคซีนในราคาสูง ยินดีที่จะให้มีการทดลองและเก็บข้อมูล มีความยืดหยุ่นสูงมาก เนื่องจากการปกครองแบบรวมศูนย์ ระบบสาธารณสุขของอิสราเอลมีประสบการณ์ในการรับมือสถาวะวิกฤตจำนวนมาก

กลับมาที่ไทย มีโรงงานตั้งในประเทศ จึงมีอาจมีอำนาจต่อรองวัคซีนมากกว่า และได้รับ technology transfer แต่ปัจจุบันยังได้รับวัคซีนจาก SBS ไม่มากเท่าที่วางแผนไว้

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่หยิบยกมานำเสนอในปัจจุบันนี้ .