สมาคมประสาทวิทยาฯ เผยคนเป็นไมเกรน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะ หากกังวลใจ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

กรณีมีการนำเสนอข่าว น.ส.ปัญพัสตร์ อายุ 46 ปี เสียชีวิต หลังจากรับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ซึ่งสืบประวัติพบว่า มีโรคประจำตัวไมเกรน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเสียชีวิตที่แน่ชัด จึงส่งศพไปชันสูตรอย่างละเอียดอีกครั้งที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ก่อนจะนัดให้ญาติผู้เสียชีวิตมาให้ปากคำอย่างละเอียดอีกครั้งที่ สน.บางเขน

(อ่านประกอบ: หญิงวัย 46 ปี กินยาไมเกรนหลังฉีดแอสตร้าฯ บอกไม่ไหว ก่อนชักดับ)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ออกประกาศ เรื่อง การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน โดยยืนยันว่า ยังไม่พบความผิดปกติจากการตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองและการตรวจหลอดเลือดในสมองอย่างชัดเจน อาการดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดได้กับวัคซีนทุกชนิดและเกิดได้ชั่วคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน เช่น ยากลุ่ม acetaminophen ยากลุ่ม NSAIDs ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine เเละคาเฟอีนหรือยาในกลุ่มทริปเเทน หรือยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ  เช่น ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น  Topiramate, Valproic acid ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น  Amitriptyline, Venlafaxine ยาในกลุ่มต้านเเคลเซียม เช่น Flunarizine ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolol เเละยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ  ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ

หากยังมีความกังวลใจและต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรนหรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพื่อวางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น .