ป.ป.ช. ฟัน "ปารีณา" ผิดจริยธรรมร้ายแรง รุกที่ดินรัฐกว่า 711 ไร่ หากศาลรับฟ้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

(10 ก.พ. 2564) นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงข่าวชี้มูลกรณี นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณียึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตามที่กรมป่าไม้ ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับนางสาวปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711–2–93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาไต่สวนแล้วเห็นว่า การที่นางสาวปารีณา ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม ปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อยู่ในกรอบของจริยธรรมในการดำรงตน เคารพ ยึดถือ และปฏิบัติ ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนั้น แต่กลับไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญหรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม

จึงมีมติว่า กรณีที่นางสาวปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11  ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องไปยัง ศาลฎีกาโดยตรง ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด และเมื่อ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา และศาลประทับรับฟ้อง ก็จะเป็นเหตุให้ ส.ส. หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เว้นแต่ศาลจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวจะส่งไปยังศาลฎีกา เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ ตามมาตรา 235 ในรัฐธรรมนูญ และจะเป็นมาตรฐานใหม่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งกรณีของนางสาวปารีณานี้ ถือเป็นสำนวนแรก ของ ส.ส. ในการกระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

นอกจากนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังเปิดเผยว่ายังมี ส.ส. และนักการเมือง ที่ถูกยื่นฟ้องผิดจริยธรรมในลักษณะเดียวกัน อีกหลาย 10 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของ ป.ป.ช.