สภาฯไฟเขียว แก้ไขกฎหมายเปิดทางสตรีทำแท้ง หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

(20 ม.ค. 2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เปิดทางให้สตรีทำแท้งได้ ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 276 ต่อ 8 งดออกเสียง 54 เสียง

โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 4 มาตรา โดยคณะ กมธ.แก้ไขมีสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ว่า ด้วยกำหนดโทษสตรีที่ทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนในมาตรา 4 กมธ.แก้ไขว่า หากเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ถือว่าไม่ผิด โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1.หญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
2.เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
3.หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์ เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
4.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
5.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ขณะที่การอภิปรายของ ส.ส. มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างนายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นมุสลิม ตามหลักการของศาสนาอิสลามภายหลังจากมีการปฏิสนธิและทารกอยู่ในครรภ์ 120 วันแล้ว ถือว่าเด็กมีชีวิตแล้ว หากทำแท้งถือว่าบาปมหันต์ ยกเว้นจะต้องมีเหตุจำเป็น เช่น แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีอันตรายถึงชีวิตของมารดา เป็นต้น แต่ถ้าเด็กได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าเกิดมาไม่สมประกอบหรือพิการ ตามหลักของอิสลามห้ามทำแท้ง เพราะเชื่อว่าเกิดมาแล้ว สังคมจะไม่ทอดทิ้งและช่วยเหลือกัน

ทำให้ประธานกรรมาธิการ นายสันติ กีระนันทน์ ชี้แจงว่า มาตรา 4 ข้อยกเว้นที่ 5 ทาง กมธ.บัญญัติขึ้นเพื่อให้ทางออกกับสตรีที่ประสบปัญหาในชีวิต เช่น พ่อของลูกเกิดเสียชีวิต หรือปฏิเสธการเป็นพ่อ ทั้งนี้ ยืนยันว่า กมธ.มีเจตนารมให้หญิงมีทางออกเมื่อประสบปัญหาในชีวิตและให้ได้รับคำแนะนำ จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะตั้งครรภ์ต่อไป หรือจะยุติการตั้งครรภ์ ส่วนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 20 สัปดาห์ เพราะถ้าเกิน 20 สัปดาห์ เด็กดิ้นแล้ว ถือว่ามีชีวิตแล้ว

ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า ขณะที่ทำกฎหมายนั้น ตนได้รับโจทย์มาว่าเราจะมีทางเลือกอย่างไรให้กับผู้หญิงที่ประสบปัญหาชีวิตที่ยากลำบากแสนสาหัสอย่างที่หาทางออกไม่ได้ วัตถุประสงค์ในการทำกฎหมายนี้ไม่ได้ต้องการผลักให้ผู้หญิงไปสู่การทำแท้ง แต่ต้องการหาทางออกที่เหมาะสมที่พอรับได้กับสังคมไทย ซึ่งมีความคิดเห็นอย่างแตกต่าง ทั้งนี้ กมธ.คำนึงถึงการมีชีวิตรอดของเด็กด้วย

อย่าไรก็ตาม น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธาน กมธ.ให้สัมภาษณ์ภายหลังสภาฯ ผ่านร่างกฎหมาย ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าจะไปซื้อยารับประทานเองเพื่อทำแท้งสามารถทำได้ และไม่ต้องทำโดยแพทย์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 ถึง 20 สัปดาห์ ถ้าต้องการยุติการตั้งครรภ์ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เพื่อให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

น.ส.ธนิกานต์ กล่าวต่อว่า แต่ถ้าเป็นกรณีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่สามารถทำแท้งตามกฎหมายนี้ได้ เพราะทางการแพทย์ถือว่าเด็กมีสภาพเป็นตัวบุคคลแล้ว มีน้ำหนักเกิน 500 กรัม เด็กสามารถกระดิกมือ กระดิกเท้าได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีที่แพทย์วินิจฉัยเห็นแล้วว่าการตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อมารดา หรือเป็นอันตรายร้ายแรงต่อเด็กที่จะคลอดออกมา หรือพิสูจน์แล้วว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการกระทำความผิดทางเพศ หรือการข่มขืน ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์กี่สัปดาห์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้