เลขาฯ สมช. เผย พรุ่งนี้เตรียมหารือว่าจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ คาดได้ข้อสรุปในเบื้องต้น ก่อนส่งเรื่องให้ ศบค.ชุดใหญ่

(20 พ.ค. 2563) พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 ให้สามารถดำเนินกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในเกณฑ์ปานกลาง แต่มีผลทางเศรษฐกิจและสังคมได้นั้น จะมีการประเมินผลก่อนที่จะนำไปสู่การพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะ 3 ต่อไป

โดยคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ช่วงใกล้ครบเวลา 14 วันหลังผ่อนคลาย ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 อาจจะเริ่มใช้ได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ การจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ จะต้องพิจารณาให้อยู่ในเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข ควบคู่ไปกับเรื่องเศรษฐกิจซึ่งเป็นหลักคิดตั้งแต่เริ่มต้นในการผ่อนปรนมาตรการ และต้องรอฟังความเห็นจากทางกระทรวงสาธารณสุข ประกอบกันด้วย

ส่วนเรื่องการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 นั้น จะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะครบกำหนดใช้ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ โดยจะต้องมีความสอดคล้องกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ สมช. จะมีประชุมในวันพรุ่งนี้ เวลา 11.00 น. เพื่อหารือว่าจะมีการจะขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ โดยคาดว่าจะได้ผลสรุปเบื้องต้น จากนั้นจะเสนอตามขั้นตอนต่อไปโดยเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ และให้ ครม. พิจารณาต่อไป ทั้งการผ่อนปรนระยะที่ 3 และการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 1 และ 2 พบว่าประชาชนมีความเคร่งครัดและให้ร่วมมือ ส่งผลให้ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศ และการปฎิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่กังวลคือการติดเชื้อจากภายนอกประเทศ ที่ต้องหามาตรการและแนวทางที่เหมาะสมรองรับก่อนที่จะมีการทยอยเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศ

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบกิจการบางประเภท อาทิ นวดแผนโบราณ รวมถึงสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่เรียกร้องขอให้มีการผ่อนปรน นั้น พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็มีความรู้สึกเห็นใจในทุกกิจการกิจกรรม ซึ่งตนก็รับฟัง แต่จะต้องมีการพิจารณาเพื่อหาแนวทางต่าง ๆ โดยปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ และอยู่ภายใต้หลักการ ที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น เพราะจะมีผลทำให้การป้องกันลำบากมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการก็จะต้องมีแนวทางและปรับตัวการประกอบธุรกิจของตัวเองด้วย