"นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" เชื่อนายกรัฐมนตรี ทำตามสัญญาเลือกตั้ง ก.พ.62 หลังสนช.ผ่านร่างกฎหมายส.ส. และส.ว. พร้อมย้ำกปปส.ไม่ตั้งพรรคการเมือง แต่หากจะมีการตั้งพรรค อาจเป็นพรรคของประชาชนที่สืบทอดเจตนารมณ์ของ กปปส.

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.) และอดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงกรณี สนช.โหวตเห็นชอบผ่านกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ยินดีด้วยกับประชาชนที่กฎหมายทั้งสองฉบับ หลังจากก่อนนี้อาจจะใจไม่ดี เพราะมีคนบอกว่า รัฐบาลอาจจะเลื่อนโรดแม็ป ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะอาจมีการคว่ำกฎหมายลูก แต่ขณะนี้สบายใจได้แล้ว เพราะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทำตามโรดแม็ปที่ระบุไว้ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มการเมืองยื่นจดจองตั้งชื่อพรรคกว่า 50 พรรค ถือเป็นเรื่องดี และชี้ให้เห็นว่า ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งประชาชนก็จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนที่มีหลายพรรคการเมืองระบุว่า จะสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯต่อนั้น ตนเองไม่ทราบ แต่ทุกพรรคย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง ควรเคารพความคิดของแต่ละฝ่าย ส่วนหลังเลือกตั้งแล้ว ใครจะเป็นนายกฯ ก็ต้องรอดูกันต่อไป

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ กปปส.ภารกิจจบไปแล้วตั้งแต่ 22 พ.ค.57 แต่อุดมการณ์และเจตนารมณ์ของ กปปส.ยังอยู่ในความคิดของประชาชน ซึ่งเป็นไปได้ที่ประชาชนจำนวนมากอาจจะขอตั้งพรรคการเมืองของประชาชนเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ กปปส.แต่ไม่ใช่ว่า กปปส.จะมาทำพรรคการเมือง ยืนยันว่า ภารกิจของกปปส.จบไปแล้ว

ส่วนกรณีที่นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชาย ประกาศตั้งพรรคการเมืองนั้น ตนมองว่า นายธานี เป็นประชาชนคนหนึ่งและเขาคิดว่าจะทำพรรคการเมืองของประชาชนเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน และเชื่อว่ามีประชาชนที่มีแนวคิดอย่างนี้อีกมาก

ส่วนตนเอง ประกาศชัดเจนว่า ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง ไม่เป็น ส.ส. ไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองทั้งสิ้น แต่ถ้าประชาชนตั้งพรรคการเมืองก็สามารถเรียกใช้ตนได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่น้องชายของนายสุเทพ จะตั้งพรรคการเมือง เพราะขณะนี้ในพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีใครแสดงความจำนงที่จะออกจากพรรค นอกจากนายธานี คนเดียว ที่มีจุดยืนต่างกัน โดยสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องรอดูท่าทีต่อไป เพราะพลเอก ประยุทธ์ ก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะมาเป็นนายกฯคนนอก และไม่เคยปฏิเสธพรรคการเมืองใดๆ หากจะมีการเสนอชื่อเพื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พร้อมยอมรับว่า พรรคมวลมหาประชาชนฯ ที่จะเกิดขึ้นอาจจะทำให้ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์น้อยลง เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องทำงานหนักขึ้น

ทั้งนี้ตามข้อกำหนดของคสช. ต้องให้สมาชิกพรรคยืนยันตนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และหลังจากวันที่ 30 เม.ย.ไปแล้ว คนที่เป็นสมาชิกพรรค ยังไม่ยืนยันตัวตนต่อหัวหน้าพรรค ก็ต้องพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นไป ซึ่งพรรคไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ได้เรียกร้องผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้วว่าคำสั่ง คสช. ที่กำหนดหลักเกณฑ์เหล่านี้ อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายที่สร้างภาระโดยไม่จำเป็น จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งพิจารณาเรื่องนี้

ส่วนบรรยากาศการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่วันที่ 6 มีพรรคการเมืองยื่นคำขอเพิ่มอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อคนไทย พรรคภูมิพลังเกษตรกรไทย พรรคประชาธรรมไทย พรรคมติประชา และ พรรคไทยสาธุชน รวมแล้วล่าสุดมี 55 พรรคการเมือง

จนถึงขณะนี้ นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี และกลุ่มของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยประกาศว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองยังไม่ได้ยื่นเรื่องต่อกกต.แต่อย่างใด

"สุเทพ" ยันไม่มี กปปส.ตั้งพรรค แจงมีแต่พรรคของประชาชน