ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา แวดวงการเมืองมีประเด็นร้อน ประเด็นดังเกิดขึ้นมากมาย วันนี้เราจะมาย้อนดู 8 อันดับ ประเด็นร้อนทางการเมืองในรอบปี 2560 กัน

อันดับ 8 นายกฯตั้งคำถาม"4+6"ถามประชาชน 

การตั้งคำถาม เพื่อสอบถามประชาชนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใน 2 ช่วงเวลา รวม 10 คำถาม กลายเป็นประเด็นให้นักการเมืองออกมาวิจารณ์ถึงความเหมาะสม มองว่า นายกฯ ชี้นำการเลือกตั้งของประชาชน จนพลเอก ประยุทธ์ ต้องออกมาแก้ต่างว่า ไม่ได้ถามนักการเมือง แต่ถามประชาชน

4 คำถามแรก นายกฯตั้งคำถามในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื้อหามุ่งถามประชาชน ว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ และ นักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่

ส่วน 6 คำถามหลัง นายกฯเป็นคนอ่านคำถามเอง ระหว่างแถลงข่าว เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ หรือ นักการเมืองหน้าใหม่หรือไม่ และถามว่า คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ได้ใช่หรือไม่

จนวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของรัฐบาล สรุปผลการตอบคำถามของนายกฯ 4 ข้อ ส่วนใหญ่ สนับสนุนให้ พลเอก ประยุทธ์ นั่งนายกฯต่อไป จนกว่าจะปฏิรูปเสร็จ

อันดับ 7 นายกฯ ลงพื้นที่พบประชาชนต่างจังหวัด 

ทุกครั้งที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ต่างจังหวัด มักเรียกเสียงหัวเราะให้กับประชาชนทุกครั้ง และ หยอดมุกอยู่บ่อยๆว่า "รักน้อย แต่ขอให้รักนานๆ"

ล่าสุดการลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ ได้ร่วมฟ้อนรำภูไทกับชาวบ้าน และร่วมเล่นโปงลางกับเด็กนักเรียนอีกด้วย จนได้คะแนนจากชาวบ้านไปเต็มๆ

ส่วนการลงพื้นที่จังหวัดอื่นๆ นายกฯก็ปล่อยทีเด็ดไม่ต่างกัน เช่น เดือน กันยายนระหว่างลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายกก็โชว์การร้องลิเก กับคนขายร้านกาแฟโบราณ

เดือน สิงหาคม ที่ จ.นครราชสีมา นายกก็อารมณ์ดี ปล่อยมุกพูดคุยกับกบ 2 ตัว บอกว่า “ชาติหน้าขอให้เกิดมาเป็นกบตัวเมีย ผมจะได้เป็นเจ้าชายกบ”

และ เดือน พฤษภาคม ขณะที่ลงพื้นที่ จ.สงขลา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเต้นชิกเก้นแด้นซ์ หรือ เต้นท่าไก่ ร่วมกับแม่ค้าในตลาด เพื่อออกกำลังกายอีกด้วย

อันดับ 6  เรื่องวุ่นๆในวงพิจารณากฎหมายลูก

กฎหมายลูก 10 ฉบับ ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ซึ่งปัจจุบัน กรธ.ส่งร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้วนั้น ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์เกือบทุกฉบับ

เริ่มตั้งแต่ฉบับแรก เมื่อกฎหมาย กกต.ให้รีเซต กกต.ยกชุด ส่งผลให้ กกต.ทั้ง 5 คนพ้นจากตำแหน่งทันที แต่ให้รักษาการไว้ก่อน จนกว่า สรรหา กกต.ใหม่ 7 คนแล้วเสร็จ ทำให้กกต.บางคน โดยเฉพาะนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ไม่พอใจ กรธ.และรัฐบาล จนแสดงความเห็นสวนทาง กรธ.มาตลอด

ส่วนร่างกฎหมาย ส.ส. กลายเป็นฉบับที่ถูกนักการเมืองจากทุกพรรคคัดค้าน เพราะมีวิธีคำนวนหา ส.ส.ในสภาที่สุดแสนจะยุ่งยาก ด้วยการนำทุกคะแนนที่ประชาชนเลือก ส.ส.เขตมาคำนวนหา ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย

นักการเมืองมองว่า เป้าประสงค์ของสูตรดังกล่าว เพื่อสกัดไม่ให้พรรคใหญ่จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

อันดับ 5 ตรวจสอบ"นาฬิกาหรู-แหวนเพชร"พลเอก ประวิตร รุ่นพี่ "บูร

พายัคฆ์"

เพียงแค่การยกมือป้องกันแดดส่องเข้าหน้าของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวลุกลาม ให้ตรวจสอบที่มาของแหวนเพชร 1 กระรัต และ นาฬิกาหรู ยี่ห้อ "ริชาร์ดมิลล์" ของพลเอก ประวิตร ซึ่งนาฬิกาหรูริชาร์มิลล์ มีกว่า 50 รุ่น รุ่นถูกที่สุดราคาเกือบ 3 ล้านบาท ไปจนถึงรุ่นที่แพงสุด ราคากว่า 68 ล้านบาท จนต่อมามีข่าวว่า แหวนเพชรเป็นของแม่ และ นาฬิกายืมของเพื่อน

แถมยังถูกนักสืบโซเชี่ยลออกมาแฉว่า พลเอก ประวิตร มีนาฬิกาหรูไม่น้อยกว่า 9 เรือนแต่ประเด็นสำคัญ พลเอก ประวิตร ไม่ได้แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 57 แม้แต่รายการเดียว 

แต่ในส่วนของรุ่นน้องบูรพายัคฆ์ ทั้ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงทรัพย์สินนาฬิกา และ แหวนเพชรต่อป.ป.ช.โดยละเอียด โดย พลเอก ประยุทธ์ มีนาฬิกาหรู 9 เรือน รวมมูลค่า 3 ล้านบาท  ส่วนพลเอก อนุพงษ์ มีนาฬิกาหรู 2 เรือน รวมมูลค่า 8 แสนบาท

อันดับ 4 คสช.ไล่เช็คบิล"ทักษิณ" - เก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ป  1.7 หมื่นล้าน

ตั้งแต่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2549 จนถึง การรัฐประหารปี 57 ทางฝั่งรัฐบาลรัฐประหาร ได้เร่งดำเนินคดีนายทักษิณ ต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่เพิกถอนพาสปอร์ต การถอดยศ"พันตำรวจโท" และ ออกหมายจับดำเนินคดีนายทักษิณ รวม 6 คดี

กระทั่ง 28 มีนาคม 2560 กรมสรรพากรได้นำหมายประเมินเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปมูลค่ากว่า 17,600 ล้านบาทไปปิดที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า แต่ นายทักษิณ ไม่ได้ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้ายึดเงินและทรัพย์สินของนายทักษิณ ที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย

ขณะที่ อัยการสูงสุด มีมติรื้อคดีนายทักษิณ ขึ้นมาพิจารณาใหม่ 2 คดี คือ คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต และ คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้ บริษัท กฤษฎามหานคร หลังจากกฎหมายใหม่ เปิดทางให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

ส่วนความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ยังคงใช้ชีวิตอยู่ใน 3 ประเทศเป็นหลัก คือ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับอเมริเรตส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ ประเทศสิงคโปร์

อันดับ 3 นายกฯประกาศเลือกตั้งเดือนพ.ย.ปี 61 -ปรับครม.ประยุทธ์ 5 

กลายเป็นประเด็นพาดหัวของสื่อหลายสำนัก หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศชัดเจนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 61 และจะมีการประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน

จากการที่นายกรัฐมนตรี ประกาศจัดการเลือกตั้ง ทำให้ตลาดหุ้นส่งกระแสตอบรับอย่างชัดเจน เพราะตลาดหุ้นพุ่งสูงเกิน 1,700 จุด เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี

หลังจากนั้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน นายกฯ ได้ปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งเป็นการปรับ ครม.ครั้งที่ 5 ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ มีการแต่งตั้งรัฐมนตรี 12 ตำแหน่ง สลับรัฐมนตรี 7 ตำแหน่ง และ แต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ 5 ตำแหน่ง มีการถ่ายรูปหมู่ครม.ประยุทธ์ 5 เมื่อ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา คาดว่า น่าจะเป็นการปรับครม.ครั้งสุดท้าย ก่อนส่งต่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

อันดับ 2 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 -เปิดทางนายกฯคนนอก 

6 เมษายน 2560 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวัน ของการเมืองไทย เป็นวันที่ ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 รวม 279 มาตรา หลังจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เนื้อหาสำคัญในรัฐธรรมนูญ ที่ปรับแก้ตามคำถามพ่วงประชามติ จนถูกนักการเมือง วิจารณ์จำนวนมาก คือ การให้สิทธิ์ ส.ว. 250 คนที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นใน 5 ปีแรก มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯคนใหม่ร่วมกับ ส.ส.500 คน จนเป็นที่มาของการวิจารณ์ ว่า อาจเป็นช่องทางในการสืบทอดอำนาจของ
คสช.ได้ เพราะหากไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ก็ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้

และหากในที่สุดพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้อีกด้วย ทำให้นักการเมืองหลายคนมองว่า อาจเป็นแผนปูทางให้"บิ๊กคสช."คนใดคนหนึ่งกลับมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี

อันดับ 1 จำคุก"ยิ่งลักษณ์"คดีจำนำข้าว 5 ปี-หลบหนีออกนอกประเทศ 

กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 สั่งจำคุก นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

แต่คาดว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ อาจรู้ผลการพิพากษาล่วงหน้า เพราะในวันนัดฟังคำพิพาษาครั้งแรก 25 สิงหาคม นางสาว ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา อ้างว่า ป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน 

ทั้งที่ ก่อนหน้านี้การไต่สวนพยานรวม 26 นัด เริ่มนัดแรกตั้งแต่เดือน มกราคม ปี 2559 จนถึงนัดสุดท้าย 21 กรกฎาคม 2560 นางสาว ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาฟังการไต่สวนพยานทุกนัด และ ยืนยันมาตลอดว่า จะไม่หลบหนีคดี

จนถึงขณะนี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิง อยู่ที่ใด มีเพียงกระแสข่าวว่า อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็ไม่มีความเคลื่อไหวใดๆ ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ส่วนรัฐมนตรี และ ข้าราชการคนอื่นๆที่ถูกตัดสินจำคุกในคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ประกบด้วย นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกจำคุก 42 ปี นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกจำคุก 36 ปี และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ถูกจำคุก 40 ปี

8 ประเด็นร้อนการเมืองปี 60