กรมสรรพากร ออกมาชี้แจงภาษีมูลค่าเพิ่มคงเดิม 7% มาตลอด หลังรายละเอียดในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 6.3% แล้วเหตุใดจึงต้องจ่าย 7% สร้างข้อสงสัยให้กับประชาชน

หลังจาก ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่า ด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ ให้ประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% โดยให้มีผลบังคับในการจัดเก็บออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ตามวงรอบปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561 และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 9 % จะมีผลในปี 2561

เมื่อดูรายละเอียดตามกฎหมายจะเห็นว่า มีการประกาศให้มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงเหลือ 6.3% แล้วเหตุใดจึงต้องจ่าย 7% ประชาชนจึงสงสัยในส่วนนี้

ล่าสุด นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แวต ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จาก 10 % เป็น 6.3 % ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดสรรรายได้ประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2534 ประกอบกับพระราชบัญญัติรายได้เทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ตามกฎหมายแล้ว แวต ต้องอยู่ในระดับ 10% หมายถึงตัวเนื้อภาษีเก็บเข้าสรรพากร 9% และ ต้องส่งเข้าท้องถิ่น 1% ดังนั้นเมื่อมีการคงแวต 7% ต้องประกาศลดอัตราแวตลงเหลือ 6.3% ถ้ารวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.7% เท่ากับ 7% พอดี

ดังนั้น ไม่ควรตกใจว่า แวต จะขึ้น 9% (รวมภาษีท้องถิ่นอีก 1 % เป็น 10%) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ตามประกาศในราชกิจจา เนื่องจากเป็นภาษากฎหมายเท่านั้น โดยที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีมติต่ออายุแวตมาตลอด

ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 9% จะมีผลในปี 2561 ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีการออกประกาศเลื่อนการจัดเก็บในอัตราดังกล่าวออกไปอีกหรือไม่

  • อธิบดีกรมสรรพากร แจงคง VAT 7 % เท่าเดิม ระบุ ขึ้น 9 % เป็นแค่ภาษากฎหมาย
  • อธิบดีกรมสรรพากร แจงคง VAT 7 % เท่าเดิม ระบุ ขึ้น 9 % เป็นแค่ภาษากฎหมาย
  • อธิบดีกรมสรรพากร แจงคง VAT 7 % เท่าเดิม ระบุ ขึ้น 9 % เป็นแค่ภาษากฎหมาย